Speed is the Enemy of Accuracy

FergusonMO[๗ กันยายน ๒๕๕๗] เหตุการณ์ที่เมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี่ เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ นับถึงวันนี้ก็ผ่านไปเกือบเดือนแล้ว แต่สื่อก็ยังประโคมข่าวเรื่องนี้อยู่ ตอนที่ฉันได้ยินข่าวเรื่องนี้ครั้งแรก (จำได้ว่าตอนนั้นกำลังเที่ยวนิวยอร์กอยู่กับแป้ง) ก็คิดว่าคงเป็นข่าวเรื่องเด็กผิวดำโดนตำรวจผิวขาวยิงอีกหนึ่งข่าว ที่ไม่ช้าไม่นานก็จะหายไปสายลม ไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว โจษจันกันทั้งประเทศได้นานขนาดนี้

ครั้งนี้คงไม่พูดถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ครั้งนี้มาก เพราะสื่อมวลชนได้รายงานข่าวไปมากมายแล้ว อ.วรากรณ์ สามโกเศศ ก็เขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างครบถ้วนและน่าสนใจในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (บทความเรื่อง “จลาจลอเมริกาให้บทเรียน” — ๒ กันยายน ๒๕๕๗)

ถามเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นคนผิวดำว่า รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ เขาบอกว่ารู้สึกว่าพวกที่ออกมาประท้วงนี่ ไม่ฉลาดเลย น่าจะรอฟังข้อมูลให้ครบถ้วนเสียก่อน หรือรอให้ศาลตัดสินเสียก่อนถึงค่อยออกมาโวยวายน่าจะดีกว่า ทำไปตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจริง ๆ เหตุการณ์เป็นอย่างไร

ฉันไม่ได้ออกความเห็นอะไรไป ได้แต่นั่งฟังเขาพูดเฉย ๆ แต่ในใจก็อดคิดไม่ได้ว่า นั่นสินะ ทำไมป่านนี้ยังไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจากทางการว่าเหตุการณ์จริง ๆ คืออะไร ทำไมตำรวจถึงได้ยิงเด็ก จริงหรือไม่ว่าเด็กไม่มีอาวุธ และยกมือยอมทุกอย่างแล้ว

ฉันคิดว่านี่คือเหตุผลหลักว่าทำไมเหตุการณ์จึงได้ลุกลามใหญ่โตขนาดนี้ ประเด็นคือข้อมูลอย่างเป็นทางการจากภาครัฐออกมาช้าเกินไป ตำรวจใช้เวลาถึงหกวันกว่าจะเปิดเผยชื่อของนายตำรวจคนที่ยิงเด็ก ใช้เวลาเก้าวันถึงได้แถลงผลการชันสูตรพลิกศพของเด็ก (ว่าโดนยิงกี่นัด ที่ไหนของร่างกายบ้าง เป็นต้น)

ปกติไม่ควรใช้เวลานานขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติในลักษณะนี้

จากกรณีเฟอร์กูสันครั้งนี้ นอกจากจะมีการวิพากวิจารณ์เรื่องประเด็นการปฏิบัติต่อคนผิวสีและเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากคือความน่าเชื่อถือของการรายงานข่าวของสื่อ ในรายการเดอะไดแอน เรมโชว์ รายการวิทยุรายการโปรดของฉันทาง NPR มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างเจาะลึก

นักวิชาการบอกว่า สื่อเดี๋ยวนี้รายงานข่าวแบบเอาเร็วเข้าว่า เพราะต้องพยายามเป็นผู้นำรายงานข่าวชิ้นนีก่อนคนอื่น ทำให้ไม่มีเวลาตรวจสอบข้อเท็จอย่างถี่ถ้วน ได้ยินคนนี้บอกว่าเห็นเหตุการณ์อย่างนี้ อย่างนี้ ก็นำมารายงานต่อเลย แถมยังมีการนำข่าวจาก Facebook จาก Twitter ไปรายงานง่าย ๆ อีก โดยไม่มีการซักถามอย่างละเอียดว่าเป็นจริงอย่างที่เขาว่ารึเปล่า บวกกับความเป็นจริงที่วา เจ้าอินเทอร์เน็ตนี้ ทำให้ใคร ๆ ก็เป็นนักข่าวได้ (หรือที่เรียกว่า Citizen journalist) ได้ยินอะไร เห็นอะไรมา ก็พิมพ์เผยแพร่ลงอินเทอร์เน็ต คนก็ส่งต่อ ๆ กันไป (แหม กดปุ่ม ‘Retweet’ ปุ่ม ‘Share’ กด Copy and Paste ง่ายออก ส่งต่อได้เลยทาง Line ไม่ต้องคิดอะไรเลย) ข่าวก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว

นี่เป็นที่มาของชื่อเรื่องในวันนี้ คือ Speed is the Enemy of Accuracy. — การทำอะไรอย่างรวดเร็วเป็นศัตรูตัวฉกาจของความถูกต้องแม่นยำ

ฉันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เป็นกรณีศึกษาจากเฟอร์กูสันเท่านั้น เมืองไทยเอง ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ก็ตกอยู่ในกระแสข่าวลือปนข่าวจริงทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ปั่นป่วนกันไปหลายที (โดยเฉพาะข่าวลือเรื่องทหารจะปฏิวัติ) ยุคนี้เรามีข่าวสารให้อ่านมากมายเต็มไปหมดจากทุกช่องทาง ดูเหมือนว่าจะสะดวกดี (จากที่แต่ก่อนต้องรับข่าวสารจากหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์) แต่จริง ๆ แล้วยิ่งมีข้อมูลเยอะ คนอ่านยิ่งต้องใช้วิจารณญาณมากเป็นพิเศษ ขนาดว่าสื่อที่เราเคยคิดว่าจะพึ่งพาเชื่อข่าวที่นำเสนอมาได้ ปัจจุบันก็อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว

2 responses to this post.

  1. wow…great article!

    Reply

    • Thank you! How could you read it? It’s in Thai. Perhaps, you have been listening to the Thai radio so often that you now understand everything in Thai(?)

      Reply

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.