Posts Tagged ‘จอห์น แครอล โรงเรียน school’

กุมภาพันธ์

Jettaccio จมหิมะ

Jettaccio จมหิมะ

[25 กุมภาพันธ์ 2554] อีกสามวันก็จะหมดเดือนกุมภาพันธ์ เดือนที่ยุ่งเหยิงที่สุดเดือนหนึ่งในชีวิตของฉัน

เทอมนี้เป็นเทอมสุดท้ายของการเรียนหนังสือ คิดว่าลงเรียนสองวิชาไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ปรากฏว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด วิชาที่ต้องเรียนเทอมนี้คือ วิชาการเจรจาต่อรอง (Negotiation and Alternative Dispute Resolution) และวิชากฏหมายและนโยบายสื่อ (Media Law and Policy) ดูตารางเรียนที่อาจารย์ให้ตอนต้นเทอมแล้ว คิดว่าคงสบายๆ เพราะไม่มีรายงานต้องเขียนมากเหมือนทุกๆ เทอมที่ผ่าน สุดท้ายกลายเป็นว่าต้องอ่านหนังสือเยอะมาก จะไม่อ่านก็ไม่ได้ เพราะบางทีอาจารย์ก็แอบเล่นทีเผลอ ให้สอบเก็บคะแนน (Quiz) แบบไม่บอกล่วงหน้าก่อน เลยกลายเป็นว่าแทนที่จะอ่านแค่เพื่อทำความเข้าใจก่อนเข้าห้องเรียน เลยต้องใช้เวลาอ่านมากขึ้นเพื่อท่องจำเผื่อเอาไปสอบทุกครั้ง

ฉันไม่เคยว่าฉันจะสนุกกับการเรียนวิชากฏหมาย ออกจะคิดประท้วงในใจด้วยซ้ำว่าจะให้เรียนทำไม เราเป็นนักเรียนต่างชาติไม่มีความจำเป็นต้องรู้กฏหมายอเมริกา สุดท้ายกลายเป็นว่า เป็นวิชาที่สนุกมาก คนอเมริกันให้ความเชื่อมั่นในความยุติธรรมของศาลเป็นอย่างยิ่ง เห็นแล้วน่าชื่นใจ กฏหมายเกี่ยวกับสื่อที่ฉันต้องเรียน อิงกับแนวคิด First Amendment ในรัฐธรรมนูญของอเมริกันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอะไร เรื่องไหนสุดท้ายก็เน้นการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน (Freedom of Expression) และเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลของสื่อ (Free Flow of Information) ด้วยเหตุผลนี้ สื่อมวลชนในอเมริกาเลยมีโอกาสได้ออกความคิดความเห็นโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีอำนาจมืดที่ไหนมารังควาน

บทเรียนวิชากฏหมายที่ฉันอ่านมักจะใช้คำพิพากษาของศาลมาเป็นตัวอย่างอธิบายเนื้อหา มีคดีแปลกๆ น่าสนใจ ชวนให้คิดมากมาย (พลอยทำให้คิดไปว่า คนอเมริกันนี่ก็ช่างฟ้องร้องหาเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลกันจริงๆ) อาทิตย์นี้ฉันอ่านเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล (Intrusion of Privacy) มีตอนหนึ่งหนังสือตั้งคำถามว่า ถ้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งตีพิมพ์เรื่องที่มีคนแอบลักลอบไปดักฟังมา (ซึ่งถือเป็นการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล) หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจะละเมิดกฏหมายหรือไม่ ปรากฏว่า หนังสือพิมพ์ไม่ผิด ศาลสูงสุดอเมริกาอธิบายเลยว่า หนังสือพิมพ์ย่อมมีสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลให้คนทั่วไปได้รับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่สาธารณชนกำลังให้ความสนใจ ส่วนเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นเรื่องรอง (ตราบใดที่หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นไม่ได้เป็นคนไปแอบดักฟังเอง)

ก่อนจะจบ ขอวกออกนอกเรื่องนิดนึงว่า วันนี้หิมะตกหนักมาก ท่วมรถไปหมด น่าจะหนาประมาณ 6-7 นิ้วเป็นอย่างต่ำ ถือเป็นการส่งท้ายเดือนที่สองของปี เพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่คาดว่ากำลังจะมาถึงในไม่กี่อาทิตย์

คลุมเครือ

ปิดเทอมแล้ว ตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา ผลสอบประกาศออกมาแล้ว ถือว่าน่าพอใจ เทอมนี้ลงเรียนแค่สองวิชา แต่รู้สึกว่ายุ่งมาก เข้าใจว่าเป็นเพราะต้องไปทำงานด้วยอาทิตย์ละสามวัน ทำให้รู้สึกว่ามีเวลาว่างน้อยลง

มาเรียนปริญญาโทเป็นรอบที่สองนี้ มีการบ้านให้ทำเยอะใช่เล่นเหมือนกัน แต่ก็สนุกและรู้สึกว่าได้ความรู้มากกว่าตอนที่มาเรียนครั้งแรกเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว ครั้งนั้นยังเด็กอยู่ จบปริญญาตรีปุ๊ปก็กระโดดมาเรียนปริญญาโทเลย ยังไม่ได้รู้จักเล่ห์เหลี่ยมของโลกกลมๆ ใบนี้ ตอนเข้าเรียนก็เลยได้ความรู้แต่ในตำราและจากการบรรยายของอาจารย์ สอบก็พอผ่าน จบแล้วจบกัน แต่ครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าตัวเองเริ่มมีทักษะในการคิดและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น (Critical Thinking) ครูบาอาจารย์สอนแล้วก็เอาไปคิดต่อได้ โต้เถียงในห้องเรียนได้(บ้าง) ปรับปรุงตัวเองให้เป็นนักเรียนแบบ active มากกว่า passive อย่างที่เคยเป็นแต่ก่อนโน้น

สิ่งที่ฉันคิดว่ายากและน่าเบื่อที่สุดในการเรียนคือการเขียนรายงานส่งอาจารย์ เห็นนักเรียนฝรั่งเขียนกันโครมๆ นั่งหน้าคอมฯ สองสามชั่วโมง พิมพ์รายงานออกมาได้เป็นสิบหน้า ชวนให้เกิดความอิจฉาริษยาเป็นอย่างที่สุด ฉันเองใช้เวลาอย่างน้อยสี่วันสำหรับการเขียนรายงานสั้นๆ (ประมาณ 5 หน้า) ส่วนรายงานใหญ่ประจำเทอม (Term Paper) ต้องใช้เวลาเตรียมตัวเขียนอย่างน้อยสามอาทิตย์ ตั้งแต่คิดหัวข้อรายงาน (คิดได้แล้วต้องไปคุยกับอาจารย์ก่อนว่า เขียนเรื่องประมาณนี้ตรงโจทย์รึเปล่า) จนถึงการสืบค้นหาข้อมูล (ซึ่งเดี๋ยวนี้สะดวกมาก ไม่ต้องไปถึงห้องสมุดเหมือนสมัยก่อน   สามารถค้นจากบ้าน ผ่านระบบข้อมูลออนไลน์ของ Epsco Host ) รายงานทุกฉบับต้องเขียนเสร็จก่อนกำหนดอย่างน้อยสองวัน เพราะต้องเผื่อเวลาให้ “Personal Proof-reader” ตรวจสอบว่าเขียนได้ถูกไวยกรณ์และอ่านแล้วเข้าใจตรงกัน (ระหว่างคนไทยและคนฝรั่ง)

รายงานเรื่องล่าสุดที่เขียนส่งอาจารย์ไปเป็นรายงานประจำวิชา วิวัฒนาการของทฤษฏีการสื่อสาร (Development of Communication Theory) อาจารย์ให้โจทย์ว่าให้เขียนถึงแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งของการสื่อสาร และนำมาตั้งเป็นทฤษฏีของตนเอง ฉันตัดสินใจเลือกหัวข้อ ประโยชน์ของความคลุมเครือในงานประชาสัมพันธ์ (The Virtue of Obscurity in Public Relations) คิดแล้วว่าน่าจะเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ แล้วดูขัดแย้งกันในตัวเอง น่าจะเขียนได้สนุกดี ได้ไอเดียมาจากที่เพื่อนๆ ในห้องเรียนชอบบ่นว่าเวลาอ่านบทความทางวิชาการแล้วงงงวยเหลือเกิน ไม่รู้ว่าต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ อาจารย์ดร.บรู๊ซ เลยหัวเราะขำๆ แล้วก็พูดเชิงประชดประชันว่า อย่างนี้แหละ “Academics despise clarity.” พวกนักวิชาการเค้าไม่ชอบเขียนอะไรให้อ่านง่ายๆ หรอก

คิดดูเผินๆ แล้ว จะเป็นไปได้ยังไงว่า ความคลุมเครือจะมีประโยชน์ในการสื่อสารด้วย ใครๆ ก็รู้กันว่าลักษณะการสื่อสารที่ดี สิ่งแรกคือต้องชัดเจน ตรงประเด็น สื่อความให้ผู้รับสารเข้าใจง่ายที่สุด อย่างไรก็ดี ถ้าเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์การสื่อสารแล้ว เราจะพบว่ามีคนตั้งใจใช้ความคลุมเครือในการเขียนหนังสือมาตั้งแต่ยุคโรมัน ที่เห็นชัดคือเซนต์ออกัสตินแห่งฮิปโป พูดถึงการเขียนคัมภีร์ไบเบิ้ลให้เต็มไปด้วยวาทะเปรียบเทียบ ให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ยาก เพื่อที่ว่าคนจะได้เข้าวัด หาพระให้พระช่วยอธิบายให้ฟัง แล้วข้อสำคัญยิ่งพยายามศึกษาไบเบิ้ลมากเท่าไหร่ ก็ช่วยให้เข้าถึงพระเจ้าได้ดีมากขึ้นเท่านั้น

เล่ามาถึงตอนนี้แล้ว ก็คิดได้ว่า เรื่องพรรค์นี้ก็ยังมีให้เห็นในเมืองไทย ปัจจุบันพระสงฆ์ทั่วๆ ไปก็ยังให้พรเป็นภาษาบาลีอยู่ ถามจริงๆ ว่าจะมีซักกี่คนที่เข้าใจว่าท่านอวยพรว่าอย่างไร แต่เราก็ทำความเข้าใจด้วยตนเองว่าเป็นการให้ศีลให้พรและน้อมรับไว้ด้วยจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ยิ่งเป็นภาษาบาลีเท่าไหร่ ก็ยิ่งขลังมากเท่านั้น

หนังโฆษณาบน Youtube

QR Code

QR Codes ทั้งของทั่วไปและของไมโครซอฟท์

หนึ่งในวิชาที่ลงเรียนเทอมนี้ คือวิชาการจัดการทางการตลาด (Marketing Mangement) นอกจากต้องฟังคำบรรยายในห้องเรียนแล้ว อาจารย์ยังให้ฝึกปฏิบัติทำแผนการตลาดอีกด้วย แบ่งนักเรียนในห้องออกเป็นหกกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มเลือกสินค้าหรือบริการตัวใดก็ได้มาลองทำแผน กลุ่มอื่นๆ เลือก Apple TV บ้าง เลือก ทีวีสามมิติบ้าง กลุ่มฉันเลือกทำแผนการตลาดให้กับบริการล้างรถชื่อ The Rainforest Car Wash อยู่ในคลีฟแลนด์ไฮทส์นี่เอง จุดเด่นของศูนย์ล้างรถนี่คือเน้นรักษ์ธรรมชาติ ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และมีการบำบัดน้ำก่อนที่จะเททิ้งลงท่อ เข้าคอนเซ็ปต์ Environmentally Friendly หรือ Go Green! ที่ฝรั่งเมืองนี้กำลังอินนักอินหนา

ถ้าใครได้มาอยู่คลีฟแลนด์ ไฮทส์จะเห็นเลยว่าคนที่ใช้รถไฮบริดกันเยอะมาก เป็นคนที่มีสำนีกรับผิดชอบต่อสังคมสูง พยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นต่อๆ ไป

ในกลุ่มตกลงกันว่าเราจะถ่ายวิดีโอตลกเป็นการโฆษณาที่ล้างรถแห่งนี้ แล้วเอาไปแปะไว้ใน Youtube ให้คนเห็นเยอะๆ จะได้ตามไปใช้บริการ แถมใครที่ไปบอกเค้าว่าได้เห็นว่าวิดีโอนี้ทาง Youtube ก็จะได้ลดค่าล้างรถไปอีก 2 เหรียญ เป็นการทำการตลาดไปด้วยในตัว

เทคโนโลยีอีกอย่างที่เราเสนอในแผนคือ การเพิ่ม QR Code ลงไปในสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิดของทางร้าน คิวอาร์โค้ดนี่ใช้งานง่ายๆ คล้ายๆ กับบาร์โค้ดทั่วไป เพียงแค่ใช้มือถือที่มีโปรแกรมอ่านโค้ดบรรจุอยู่ แล้วบรรจงถ่ายภาพเจ้าตัวสัญลักษณ์นี้ แป๊ปเดียว เจ้าของมือถือก็สามารถเปิดเว็บไซต์ที่เชื่อมต่อกับโค้ดนี้ได้เลย โดยไม่ต้องพิมพ์ URL ให้เมื่อยมือ

โลกเดี่ยวนี้ก้าวไปไกลจริงๆ วันนี้เพิ่งอ่านบทความในนิวยอร์กไทม์ บอกว่าแนวโน้มต่อไปคนจะใช้อีเมล์น้อยลงๆ ทุกวัน แต่จะเปลี่ยนไปใช้การส่งข้อความสั้น (SMS หรือ Instant Messaging) มากกว่า เพราะได้รับคำตอบรวดเร็วทันใจดี กว่าจะเขียนอีเมล์ ต้องมีคำขึ้นต้น คำลงท้าย อืดอาดไม่ทันใจ คนสมัยนี้

ถ้าเกิดเป็นอย่างนี้จริงๆ สงสัยเหลือเกินว่าต่อไป จะมีคนสามารถเขียนข้อความยาวๆ เป็นย่อหน้าๆได้ซักที่คน

สัพเพเหระวันขอบคุณพระเจ้า

President Bush pardons the Thanksgiving turkey in the Rose Garden.

ประธานาธิบดีบุชปล่อยไก่งวง (ภาพจาก http://georgewbush-whitehouse.archives.gov)

อาทิตย์นี้เป็นอาทิตย์แห่งวันขอบคุณพระเจ้า ฉันไปเรียนหนังสือแค่วันจันทร์วันเดียว โรงเรียนหยุดตั้งแต่วันอังคารเป็นต้นไป เปิดเรียนอีกทีก็วันจันทร์หน้า

Thanksgiving เป็นเทศกาลสำคัญของประเทศนี้ ถ้าเปรียบกับเมืองไทย ก็คงเท่าๆ กับสงกรานต์ ถ้าเทียบกับอิตาลีก็คงเป็นแฟรรากอสโต ที่จะไม่เหมือนกันคือ พอถึงวัน Thanksgiving ซึ่งเป็นวันพฤหัสสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ร้านรวงและที่ทำงานในประเทศนี้จะปิดทำการหมด รถก็ไม่ค่อยมีวิ่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงหนัง ปิดราบเป็นหน้ากลอง ให้ความรู้สึกราวกับเมืองทั้งเมืองเป็นร้าง ต่างกับสงกรานต์บ้านเราที่ร้านค้ายังเปิดให้ออกไปจับจ่าย หาความบันเทิงได้บ้าง ถนนหนทางก็คึกคัก เพราะคนพากันออกมาปะแป้ง เล่นน้ำ

พูดถึง Thanksgiving ก็หนีไม่พ้นเรื่องอาหารประจำเทศกาล ซึ่งก็จะมีไก่งวง มีแครนเบอรี่ซอส มีสตัฟฟิ่งทำจากขนมปัง มีมันฝรั่งบด มีสวีทโปเตโต้สีส้มๆ (มันหวาน) มีถั่วฝักยาวอบ (Green bean casserole) ของหวานก็มักจะเป็นพายแอ๊ปเปิ้ล ปีที่แล้วฉันและพี่เอ็นโซได้รับเชิญให้ไปร่วมฉลองวัน Thanksgiving ที่บ้านอาจารย์ที่โรงเรียนท่านหนึ่ง อาหารอร่อยทุกอย่าง กินกันจนพุงกาง ยังจำได้ว่าฉันเอาซาละเปาไส้หมูแดงที่ซื้อจากร้านลีวาในเมืองจีนติดมือไปแจมด้วย ปีนี้ฉันไปกินกับเพื่อนๆที่จอห์นแครอล ทาง Office of Global Education จัดให้นักเรียนต่างชาติที่ Carrollogde ซึ่งเป็นบ้านพักร้อนของที่โรงเรียน กินจนพุงกางอีกเหมือนกัน

อาทิตย์นี้เราจะเห็นรถทะเบียนแปลกๆ จากต่างรัฐวิ่งแถวบ้านเต็มไปหมด มาจาก West Virginia บ้าง มาจาก Utah บ้าง เดาเอาว่าคงกลับมาเยี่ยมบ้านกัน เพื่อจะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาและฉลองวันขอบคุณพระเจ้า ข่าวใหญ่ประจำอาทิตย์ก็หนีไม่พ้นเรื่องการเดินทางกลับบ้านของประชาชนทั้งหลาย ปีนี้ทางการกะว่าน่าจะมีคนเดินทางทางอากาศช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าอย่างๆน้อย ก็หนึ่งพันหกร้อยล้านคน คนเยอะอย่างนี้แน่นอนว่าการตรวจเช็คผู้โดยสารที่สนามบินก็คงวุ่นวายตามไปด้วย

TSA Full-body scanner

ภาพจากเครื่องสแกนเนอร์ของ TSA (จาก http://blog.tsa.gov/)

ที่อเมริกา หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เรียกว่า “Transportation Security Administration” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า TSA  ใครที่ใช้สนามบินในอเมริกา คงเดาออกว่าขั้นตอนการตรวจเช็คความปลอดภัยสนามบิน ยุ่งยากแค่ไหน หลังๆ นี้ ยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่ เพราะตั้งแต่เค้าติดตั้งเครื่อง Full-Body Scanner ซึ่งคนอเมริกันหลายๆ คนคิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นอย่างยิ่ง หนังสือพิมพ์ลงข่าวต่างๆ นานา ว่ามีผู้โดยสารพากันประท้วงไม่ยอมให้ตรวจ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้มีการคาดคะเนว่าคงใช้เวลานานมากกว่าจะผ่านด่านรักษาความปลอดภัยเข้าไปได้

ประเด็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยนี้ได้รับการถกเถียงกันอย่างหนักในห้องเรียนมาร์เก็ตติ้งเมื่อวันจันทร์ (ทั้งๆ ที่ เนื้อหาก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการตลาดเสียเท่าไหร่)  หลายคนเชื่อว่าคนที่เดินทางต้องยอมรับกฏนี้ เพื่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมเดินทางคนอื่นๆ ถ้ารับไม่ได้ ก็ไปขับรถซะ ไม่ต้องมานั่งเครื่องบิน แต่บางคน (ซึ่งเป็นผู้หญิง) ก็ไม่เห็นด้วยที่ต้องยอมกันขนาดนี้ แค่เดินผ่านเครื่องตรวจโลหะ เอากระเป๋าเข้าเครื่องเอ๊กซ์เรย์หรือค้นตัวก็พอแล้วไม่เห็นต้องให้คนเดินผ่านเครื่องสแกนเนอร์ให้เห็นรูปร่างกันขนาดนี้เลย เพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชาย พยักหน้าเห็นด้วย บอกว่า ตัวเค้าเองก็ไม่อยากให้ใครมาเห็นรูปร่างของภรรยา หรือลูกสาวเค้าทางจอเหมือนกัน สแกนเนอร์ที่ว่านี่เท่าที่เห็นจากภาพข่าวก็เป็นเครื่องสแกนตัวมนุษย์ให้เห็นแค่เป็นรูปร่าง ไม่ได้เห็นอวัยวะเป็นส่วนๆ และไม่เห็นหน้าตาชัดเจนแต่เข้าใจอารมณ์คนเถียงเหมือนกันว่า ไม่มีใครอยากให้เจ้าหน้าที่ TSA ที่เป็นคนคุมสแกนเนอร์นั่งวิจารณ์(และอาจรวมถึง) หัวเราะ(เยาะ)รูปร่างผู้โดยสารแต่ละคน

ทั้งนี้และทั้งนั้นปัญหาไม่ได้อยู่แค่เครื่องสแกนเนอร์อย่างเดียว ซีเอ็นเอ็นลงข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่ TSA ทำถุงฉี่ของผู้โดยสารแตก ระหว่างที่ทำการตรวจค้นตามลำตัว (Pat-down) ข่าวบอกว่าผู้โดยสารคนนี้เป็นผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง (Cancer survivor) ทำให้ต้องไปไหนต่อไหนโดยมีถุงฉี่ห้อยติดตัวไปด้วย นอกจากเรื่องปัญหาการตรวจค้นผู้ป่วยทั้งหลายแล้ว ยังมีเรื่องการค้นตัวผู้โดยสารเด็กๆ อีก จะทำยังไงไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็ก และคงมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย…

เล่าเรื่องนี้ให้คุณสามีฟัง เค้าไม่ว่าอะไร ได้แค่ยกคำพูดของ Benjamin Franklin ที่บอกว่า “ใครที่เลือกความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แทนที่จะเลือกอิสรภาพแล้ว เขาผู้นั้นก็จะสูญเสียทั้งสองอย่าง” [“Those who would give up essential liberty to purchase a little temporary safety, deserve neither liberty nor safety.”] ที่ว่าอย่างนี้เพราะถ้าเราถึงขั้นยอมให้ใครต่อใครมาควบคุมดูแลชีวิตและทรัพย์สินของเราให้รอดพ้นจากอันตรายแล้ว นั่นก็แปลว่าเราก็ยกชีวิตและอิสรภาพให้เขาไปโดยปริยาย

ความเห็นของฉันอย่างเดียวคือ สงสารคนอเมริกันเหลือเกิน จะทำอะไรก็ต้องหวาดกลัว เดี๋ยวระเบิด เดี๋ยวสารพิษ ต้องยกทัพไปสู้รบในแดนไกล ครอบครัวต้องแยกกันอยู่ คนนิวยอร์กต้องตะเกียกตะกายไปเช่าตู้เก็บเอกสารสำคัญไว้นอกเมือง (เผื่อกรณ๊ใครยกทัพมาระเบิดเมืองอีก เอกสารจะได้ไม่ถูกทำลายไปด้วย) ไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์ร้ายๆ อย่าง 9/11 เกิดขึ้นอีก เฮ้อ! ดูไม่เห็นจะเป็นชีวิตที่มีความสุขเลย สู้อยู่บ้านเราก็ไม่ได้

โรงเรียน(สี)เขียว

(อดีต)ที่จอดรถในโรงเรียน

(อดีต)ที่จอดรถในโรงเรียน

ตั้งชื่อเรื่องอย่างนี้เพื่อจะให้คล้องกับโครงการ อีสานเขียว ที่เคยโด่งดังในบ้านเรา เมื่อนับสิบปีที่แล้ว

เปิดเทอมใหม่คราวนี้ นอกจากจะได้เพื่อนใหม่แล้ว โรงเรียนยังเปลี่ยนปรับโฉมใหม่รับแฟชั่น Go Green ที่กำลังฮิตฮอตอยู่ในอเมริกา โดยการกำจัดลานจอดรถคอนกรีตที่อยู่หน้าห้องสมุดไปและปรับพื้นที่ให้เป็นลานกว้าง (Quad) ปลูกหญ้าสีเขียวสดงดงามแทน ฟังๆ แล้ว คนเมืองหลวงอย่างฉันก็ประหลาดใจกับการตัดสินใจของโรงเรียนเหมือนกัน ที่บ้านฉัน เค้ามีแต่ซื้อที่นาเอามาปลูกตึก ปลูกที่จอดรถ ปลูกรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ทำไมอยู่ๆ ดีๆ โรงเรียนถึงได้รื้อที่จอดรถออก แล้วปลูกหญ้าแทนเสียเล่า

ความคิดเดิมๆ ของฉันก็เป็นแค่ความคิดเชยๆของยุคก่อน มาอยู่คลีฟแลนด์ ได้ยินคนบ่นกับนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเมืองว่า อยากให้มี Green Space มากขึ้นเหลือเกิน ฉันมองไปรอบๆ ตัวแล้วก็อดคิดในใจไม่ได้ว่า นี่ยังไม่มากอีกเหรอ ในกรุงเทพฯ ที่ฉันอยู่ ยังไม่มีต้นไม้ริมถนน ไม่มีสวนสาธารณะ แทบจะทุกๆ 5 กิโลเมตร อย่างเมืองนี้เลย แต่ฝรั่งก็ยังยืนกรานว่า ที่มีอยู่นี่ไม่พอ ต้องมีมากขึ้นกว่านี้อีก

อย่างไรก็ดี ฉันฟังแล้วก็ชื่นใจ ต้นไม้ย่อมดีกว่าตึกแน่นอน

หนังสือพิมพ์ประจำโรงเรียน The Carroll News ฉบับวันที่ 9 กันยายน 2553 รายงานข่าวว่าเหตุผลที่โรงเรียนรื้อที่จอดรถออก เพราะจะต้องเตรียมตัวจัดงานฉลองครบ 125 ปีในปีหน้า คณะจัดงานคงต้องการพื้นที่กว้างๆ เอาไว้รองรับคนที่มางาน พื้นที่จอดรถที่รื้อออกไปนี้ ถือเป็นพื้นที่จอดรถชั่วคราว สร้างขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีนี่เอง เพื่อทดแทนพื้นจอดรถที่หายไประหว่างการก่อสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ the Dolan Science Center  ตอนนี้ตึกโดแลนก็สร้างเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องกำจัดพื้นที่จอดรถนี่เสียที

อีกเหตุผลหนึ่งที่โรงเรียนต้องรื้อที่จอดรถออกเป็นเรื่องของการจัดการระบายน้ำ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ฉันไม่เคยรู้มาก่อน สรุปได้ง่ายๆ ว่า การมีพื้นที่คอนกรีตในบริเวณโรงเรียน ทำให้โรงเรียนต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ “ศูนย์จัดการการระบายน้ำเขตตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐโอไฮโอ” (Northeast Ohio Regional Sewer District) ถึงปีละ 36,000 เหรียญ (คิดเป็นเงินไทยก็ล้านกว่าบาท) หลักง่ายๆ ก็คือ พอฝนตก น้ำก็ต้องไหลลงท่อประปาให้หน่วยงานนี้จัดการบำบัดน้ำให้สะอาดก่อนจะปล่อยลงแม่น้ำคาโฮกา (Cuyahoga)  หรือทะเลสาบอีรี่ (Erie) ให้ถูกต้องตามกฏหมายรักษาสิ่งแวดล้อมอย่าง Clean Water Act ของรัฐบาลกลาง

พูดสั้นๆ ก็คือว่า การที่โรงเรียนกำจัดพื้นที่คอนกรีตขนาดใหญ่ออกไปและปลูกหญ้าแทน ทำให้ประหยัดตังค์ไปได้มากโข ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำให้กับเขตนั่นเอง

สรุปว่าเปิดเทอมใหม่นี้ ที่จอดรถหายไป 250 ที่ โรงเรียนเลยเข้มงวดกับการเอารถเข้ามาจอดในโรงเรียน แต่ก่อนใครจะเอารถเข้ามาก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องซื้อบัตรอนุญาตเท่านั้น เทอมละ 120 เหรียญ (แต่ฉันจ่ายเทอมละ 60 เหรียญ  เพราะเป็นนักเรียนภาคค่ำ เอารถเข้ามาได้หลังสี่โมงเย็นเป็นต้นไป) คุณยามหน้าประตูเลยค่อนข้างจะเข้มงวด ไม่มีบัตรจอดรถก็ห้ามเข้า ให้เอารถไปจอดที่ University Square ที่โรงเรียนเช่าจากเขตไว้ให้ จอดได้ฟรี แล้วก็นั่งรถ Shuttle Bus เข้ามา ซึ่งก็ดูจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเด็กปริญญาตรี กลายเป็นว่าถึงที่จอดรถจะมีน้อยลงถึง 250 ที่ แต่ก็ดูเหมือนจะมีที่ว่างมากกว่าเดิม แถมตอนนี้ก็มีการรณรงค์ให้ขี่จักรยาน มีจักรยานให้เช่าฟรีอีกต่างหาก

ดีใจที่เมืองนี้จะกลายเป็นสีเขียวเข้มขึ้น