Posts Tagged ‘เทคโนโลยี Technology’

ลูกนักการเมือง

obama-turkey-pardon[๗ ธันวาคม ๒๕๕๗] วันนี้มีโอกาสได้ดูรายการไลน์กนกทางยูทูป  ทางผู้จัดได้เชิญคุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และลูกชายมาสัมภาษณ์ออกรายการเนื่องในวันพ่อ ตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ คุณปลื้ม ลูกชายคุณชวนเล่าว่า เป็นลูกนักการเมืองนี่ไม่ได้สบายเลย เวลาอยู่เชียงใหม่ เดิน ๆ อยู่ก็มีคนเอารองเท้ามาขว้างใส่เสียเฉย ๆ ก็มี หรือบางทีเวลาจะไปขายโฆษณาของรายการทีวีที่ทำอยู่ ก็ถูกปฏิเสธ เพราะบริษัทร้านค้าหลาย ๆ แห่งไม่อยากถูกมองว่าอุปถัมภ์พรรคการเมืองไหนเป็นพิเศษ

ฟังแล้วก็ชวนให้นึกถึงกรณีของลูกสาวประธานาธิบดีสหรัฐที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาด ๆ  เรื่องมีอยู่ว่า ในงานอภัยทานไก่งวงแห่งชาติ เนื่องในเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า ที่จัดขึ้นทำเนียบขาวที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาก็ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีปล่อยไก่งวงผู้โชคดีให้รอดพ้นจากการถูกเชือดขึ้นโต๊ะอาหารตามปกติเหมือนอย่างทุก ๆ ปี

ตลอด 6  ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นลูกสาวของโอบามาร่วมพิธีด้วยทุกครั้ง เรียกว่าตั้งแต่น้อง ๆ สองคนยังเป็นเด็กน่ารัก อายุสิบขวบนิด ๆ จนบัดนี้เวลาผ่านไป ทั้งมาเลียและซาช่าก็โตเป็นสาววัยรุ่นตัวสูงเท่าพ่อแม่แล้ว ใคร ๆ ก็คงพอจะนึกออกว่า ปีแรก ๆ พิธีปล่อยไก่งวงก็คงสนุกดีสำหรับเด็กเล็ก ๆ แต่พอน้องโตแบบที่คนไทยเรียกว่าสุนัขเลียก้นไม่ถึงแล้ว การออกงานพิธีการอย่างนี้ช่างเป็นเรื่องน่าเบื่อไม่ใช่ย่อยทีเดียว  ปีนี้เราเลยจะเห็นหน้าตาไม่ค่อยสเบยของสองสาวยืนอยู่ข้าง ๆ พ่อ เหมือนจะโดนบังคับให้มาร่วมงานอย่างปฏิเสธไม่ได้

เรื่องนี้คงไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา หากว่าผู้อำนวยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของผู้แทนคนหนึ่งในพรรครีพับลิกัน ชื่อ อลิซาเบธ เลาเทน ไม่ออกมาวิจารณ์ท่าทางและการแต่งกายของสองสาวปาว ๆ ผ่านทางทวิตเตอร์ ในลักษณะที่ว่า นี่หนู ๆ เป็นลูกสาวประธานาธิบดีทั้งทีก็ควรจะทำตัวให้มีระดับเสียหน่อย (“try showing a little class”)  ควรจะแต่งตัวให้เหมาะสมกับกาละเทศะ ไม่ใช่แต่งตัวเหมือนกับไปเที่ยวอย่างนี้

ฉันไม่แน่ใจว่าการที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นี่ต้องการหวังผลอะไร อยากจะสอนเด็กจริงหรือหรือว่าแค่อยากจะสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง อย่างไรก็ตาม หลังจากคุณอลิซาเบธเผยแพร่ข้อความดังกล่าวออกมาไม่นาน ก็ถูกกระหน่ำด้วยคำตำหนิติเตียนจากสังคมออนไลน์ คนส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ถ้าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดหรือการทำงานของพ่อ ก็ไม่ควรมาลงกับลูกอย่างนี้

สองวันต่อว่า อลิซาเบธ เลาเทนก็ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์

กรณีนี้ไม่มีการโต้ตอบจากทางทำเนียบขาว นึกไม่ออกเหมือนกันว่าทั้งพ่อและแม่ของมาเลียและซาช่าจะคิดอย่างไรที่มีคนมาตำหนิลูกสาวของตนอย่างรุนแรงขนาดนี้

อย่างไรก็ตามฉันไม่เคยเห็นด้วยกับการที่ใช้พื้นที่สาธารณะในการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องส่วนตัวลักษณะนี้  ถ้าอยากจะเตือนกันจริง ๆ ก็ควรจะสื่อสารกันส่วนตัวดีกว่าที่จะเอามาโพนทนาว่ากล่าวกันให้คนค่อนโลกได้รับทราบ ในเมืองไทยเอง ก็มีหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลาย ๆ เล่มใช้พื้นที่สาธารณะในการพูดถึงเรื่องส่วนตัวเช่นนี้เหมือนกัน ทำเอาฉันหยุดอ่านไปนาน

หนังโฆษณาบน Youtube

QR Code

QR Codes ทั้งของทั่วไปและของไมโครซอฟท์

หนึ่งในวิชาที่ลงเรียนเทอมนี้ คือวิชาการจัดการทางการตลาด (Marketing Mangement) นอกจากต้องฟังคำบรรยายในห้องเรียนแล้ว อาจารย์ยังให้ฝึกปฏิบัติทำแผนการตลาดอีกด้วย แบ่งนักเรียนในห้องออกเป็นหกกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มเลือกสินค้าหรือบริการตัวใดก็ได้มาลองทำแผน กลุ่มอื่นๆ เลือก Apple TV บ้าง เลือก ทีวีสามมิติบ้าง กลุ่มฉันเลือกทำแผนการตลาดให้กับบริการล้างรถชื่อ The Rainforest Car Wash อยู่ในคลีฟแลนด์ไฮทส์นี่เอง จุดเด่นของศูนย์ล้างรถนี่คือเน้นรักษ์ธรรมชาติ ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และมีการบำบัดน้ำก่อนที่จะเททิ้งลงท่อ เข้าคอนเซ็ปต์ Environmentally Friendly หรือ Go Green! ที่ฝรั่งเมืองนี้กำลังอินนักอินหนา

ถ้าใครได้มาอยู่คลีฟแลนด์ ไฮทส์จะเห็นเลยว่าคนที่ใช้รถไฮบริดกันเยอะมาก เป็นคนที่มีสำนีกรับผิดชอบต่อสังคมสูง พยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นต่อๆ ไป

ในกลุ่มตกลงกันว่าเราจะถ่ายวิดีโอตลกเป็นการโฆษณาที่ล้างรถแห่งนี้ แล้วเอาไปแปะไว้ใน Youtube ให้คนเห็นเยอะๆ จะได้ตามไปใช้บริการ แถมใครที่ไปบอกเค้าว่าได้เห็นว่าวิดีโอนี้ทาง Youtube ก็จะได้ลดค่าล้างรถไปอีก 2 เหรียญ เป็นการทำการตลาดไปด้วยในตัว

เทคโนโลยีอีกอย่างที่เราเสนอในแผนคือ การเพิ่ม QR Code ลงไปในสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิดของทางร้าน คิวอาร์โค้ดนี่ใช้งานง่ายๆ คล้ายๆ กับบาร์โค้ดทั่วไป เพียงแค่ใช้มือถือที่มีโปรแกรมอ่านโค้ดบรรจุอยู่ แล้วบรรจงถ่ายภาพเจ้าตัวสัญลักษณ์นี้ แป๊ปเดียว เจ้าของมือถือก็สามารถเปิดเว็บไซต์ที่เชื่อมต่อกับโค้ดนี้ได้เลย โดยไม่ต้องพิมพ์ URL ให้เมื่อยมือ

โลกเดี่ยวนี้ก้าวไปไกลจริงๆ วันนี้เพิ่งอ่านบทความในนิวยอร์กไทม์ บอกว่าแนวโน้มต่อไปคนจะใช้อีเมล์น้อยลงๆ ทุกวัน แต่จะเปลี่ยนไปใช้การส่งข้อความสั้น (SMS หรือ Instant Messaging) มากกว่า เพราะได้รับคำตอบรวดเร็วทันใจดี กว่าจะเขียนอีเมล์ ต้องมีคำขึ้นต้น คำลงท้าย อืดอาดไม่ทันใจ คนสมัยนี้

ถ้าเกิดเป็นอย่างนี้จริงๆ สงสัยเหลือเกินว่าต่อไป จะมีคนสามารถเขียนข้อความยาวๆ เป็นย่อหน้าๆได้ซักที่คน

สัพเพเหระวันขอบคุณพระเจ้า

President Bush pardons the Thanksgiving turkey in the Rose Garden.

ประธานาธิบดีบุชปล่อยไก่งวง (ภาพจาก http://georgewbush-whitehouse.archives.gov)

อาทิตย์นี้เป็นอาทิตย์แห่งวันขอบคุณพระเจ้า ฉันไปเรียนหนังสือแค่วันจันทร์วันเดียว โรงเรียนหยุดตั้งแต่วันอังคารเป็นต้นไป เปิดเรียนอีกทีก็วันจันทร์หน้า

Thanksgiving เป็นเทศกาลสำคัญของประเทศนี้ ถ้าเปรียบกับเมืองไทย ก็คงเท่าๆ กับสงกรานต์ ถ้าเทียบกับอิตาลีก็คงเป็นแฟรรากอสโต ที่จะไม่เหมือนกันคือ พอถึงวัน Thanksgiving ซึ่งเป็นวันพฤหัสสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ร้านรวงและที่ทำงานในประเทศนี้จะปิดทำการหมด รถก็ไม่ค่อยมีวิ่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงหนัง ปิดราบเป็นหน้ากลอง ให้ความรู้สึกราวกับเมืองทั้งเมืองเป็นร้าง ต่างกับสงกรานต์บ้านเราที่ร้านค้ายังเปิดให้ออกไปจับจ่าย หาความบันเทิงได้บ้าง ถนนหนทางก็คึกคัก เพราะคนพากันออกมาปะแป้ง เล่นน้ำ

พูดถึง Thanksgiving ก็หนีไม่พ้นเรื่องอาหารประจำเทศกาล ซึ่งก็จะมีไก่งวง มีแครนเบอรี่ซอส มีสตัฟฟิ่งทำจากขนมปัง มีมันฝรั่งบด มีสวีทโปเตโต้สีส้มๆ (มันหวาน) มีถั่วฝักยาวอบ (Green bean casserole) ของหวานก็มักจะเป็นพายแอ๊ปเปิ้ล ปีที่แล้วฉันและพี่เอ็นโซได้รับเชิญให้ไปร่วมฉลองวัน Thanksgiving ที่บ้านอาจารย์ที่โรงเรียนท่านหนึ่ง อาหารอร่อยทุกอย่าง กินกันจนพุงกาง ยังจำได้ว่าฉันเอาซาละเปาไส้หมูแดงที่ซื้อจากร้านลีวาในเมืองจีนติดมือไปแจมด้วย ปีนี้ฉันไปกินกับเพื่อนๆที่จอห์นแครอล ทาง Office of Global Education จัดให้นักเรียนต่างชาติที่ Carrollogde ซึ่งเป็นบ้านพักร้อนของที่โรงเรียน กินจนพุงกางอีกเหมือนกัน

อาทิตย์นี้เราจะเห็นรถทะเบียนแปลกๆ จากต่างรัฐวิ่งแถวบ้านเต็มไปหมด มาจาก West Virginia บ้าง มาจาก Utah บ้าง เดาเอาว่าคงกลับมาเยี่ยมบ้านกัน เพื่อจะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาและฉลองวันขอบคุณพระเจ้า ข่าวใหญ่ประจำอาทิตย์ก็หนีไม่พ้นเรื่องการเดินทางกลับบ้านของประชาชนทั้งหลาย ปีนี้ทางการกะว่าน่าจะมีคนเดินทางทางอากาศช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าอย่างๆน้อย ก็หนึ่งพันหกร้อยล้านคน คนเยอะอย่างนี้แน่นอนว่าการตรวจเช็คผู้โดยสารที่สนามบินก็คงวุ่นวายตามไปด้วย

TSA Full-body scanner

ภาพจากเครื่องสแกนเนอร์ของ TSA (จาก http://blog.tsa.gov/)

ที่อเมริกา หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เรียกว่า “Transportation Security Administration” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า TSA  ใครที่ใช้สนามบินในอเมริกา คงเดาออกว่าขั้นตอนการตรวจเช็คความปลอดภัยสนามบิน ยุ่งยากแค่ไหน หลังๆ นี้ ยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่ เพราะตั้งแต่เค้าติดตั้งเครื่อง Full-Body Scanner ซึ่งคนอเมริกันหลายๆ คนคิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นอย่างยิ่ง หนังสือพิมพ์ลงข่าวต่างๆ นานา ว่ามีผู้โดยสารพากันประท้วงไม่ยอมให้ตรวจ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้มีการคาดคะเนว่าคงใช้เวลานานมากกว่าจะผ่านด่านรักษาความปลอดภัยเข้าไปได้

ประเด็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยนี้ได้รับการถกเถียงกันอย่างหนักในห้องเรียนมาร์เก็ตติ้งเมื่อวันจันทร์ (ทั้งๆ ที่ เนื้อหาก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการตลาดเสียเท่าไหร่)  หลายคนเชื่อว่าคนที่เดินทางต้องยอมรับกฏนี้ เพื่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมเดินทางคนอื่นๆ ถ้ารับไม่ได้ ก็ไปขับรถซะ ไม่ต้องมานั่งเครื่องบิน แต่บางคน (ซึ่งเป็นผู้หญิง) ก็ไม่เห็นด้วยที่ต้องยอมกันขนาดนี้ แค่เดินผ่านเครื่องตรวจโลหะ เอากระเป๋าเข้าเครื่องเอ๊กซ์เรย์หรือค้นตัวก็พอแล้วไม่เห็นต้องให้คนเดินผ่านเครื่องสแกนเนอร์ให้เห็นรูปร่างกันขนาดนี้เลย เพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชาย พยักหน้าเห็นด้วย บอกว่า ตัวเค้าเองก็ไม่อยากให้ใครมาเห็นรูปร่างของภรรยา หรือลูกสาวเค้าทางจอเหมือนกัน สแกนเนอร์ที่ว่านี่เท่าที่เห็นจากภาพข่าวก็เป็นเครื่องสแกนตัวมนุษย์ให้เห็นแค่เป็นรูปร่าง ไม่ได้เห็นอวัยวะเป็นส่วนๆ และไม่เห็นหน้าตาชัดเจนแต่เข้าใจอารมณ์คนเถียงเหมือนกันว่า ไม่มีใครอยากให้เจ้าหน้าที่ TSA ที่เป็นคนคุมสแกนเนอร์นั่งวิจารณ์(และอาจรวมถึง) หัวเราะ(เยาะ)รูปร่างผู้โดยสารแต่ละคน

ทั้งนี้และทั้งนั้นปัญหาไม่ได้อยู่แค่เครื่องสแกนเนอร์อย่างเดียว ซีเอ็นเอ็นลงข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่ TSA ทำถุงฉี่ของผู้โดยสารแตก ระหว่างที่ทำการตรวจค้นตามลำตัว (Pat-down) ข่าวบอกว่าผู้โดยสารคนนี้เป็นผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง (Cancer survivor) ทำให้ต้องไปไหนต่อไหนโดยมีถุงฉี่ห้อยติดตัวไปด้วย นอกจากเรื่องปัญหาการตรวจค้นผู้ป่วยทั้งหลายแล้ว ยังมีเรื่องการค้นตัวผู้โดยสารเด็กๆ อีก จะทำยังไงไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็ก และคงมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย…

เล่าเรื่องนี้ให้คุณสามีฟัง เค้าไม่ว่าอะไร ได้แค่ยกคำพูดของ Benjamin Franklin ที่บอกว่า “ใครที่เลือกความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แทนที่จะเลือกอิสรภาพแล้ว เขาผู้นั้นก็จะสูญเสียทั้งสองอย่าง” [“Those who would give up essential liberty to purchase a little temporary safety, deserve neither liberty nor safety.”] ที่ว่าอย่างนี้เพราะถ้าเราถึงขั้นยอมให้ใครต่อใครมาควบคุมดูแลชีวิตและทรัพย์สินของเราให้รอดพ้นจากอันตรายแล้ว นั่นก็แปลว่าเราก็ยกชีวิตและอิสรภาพให้เขาไปโดยปริยาย

ความเห็นของฉันอย่างเดียวคือ สงสารคนอเมริกันเหลือเกิน จะทำอะไรก็ต้องหวาดกลัว เดี๋ยวระเบิด เดี๋ยวสารพิษ ต้องยกทัพไปสู้รบในแดนไกล ครอบครัวต้องแยกกันอยู่ คนนิวยอร์กต้องตะเกียกตะกายไปเช่าตู้เก็บเอกสารสำคัญไว้นอกเมือง (เผื่อกรณ๊ใครยกทัพมาระเบิดเมืองอีก เอกสารจะได้ไม่ถูกทำลายไปด้วย) ไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์ร้ายๆ อย่าง 9/11 เกิดขึ้นอีก เฮ้อ! ดูไม่เห็นจะเป็นชีวิตที่มีความสุขเลย สู้อยู่บ้านเราก็ไม่ได้

เรื่องเศร้าที่รัทเกอร์ส

Rutgers, the State University of New Jerseyข่าวสะเทือนใจของอเมริกาอาทิตย์นี้ คงหนีไม่พ้นข่าวนักศึกษาปีหนึ๋งของมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส (Rutgers, the State University of New Jersey) กระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่สะพานจอร์จวอชิงตัน ที่เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ น้องไม่ได้กระโดดน้ำตายเพราะน้อยใจแบบวัยรุ่นทั่วไป แต่เป็นเพราะน้องโดน “Cyber-bully” ไม่แน่ใจว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรดี แต่อธิบายได้สั้นๆ ว่า เป็นอาการที่เกิดการโดนกลั่นแกล้ง(แบบอันธพาล)ทางอินเทอร์เน็ต หรือถ้าจะให้ฉันอธิบายด้วยภาษาของตัวเองก็คือ น้องโดดน้ำตายเพราะพิษสงจากเครื่องมือออนไลน์

น้องผู้ชายคนนี้เพิ่งเข้าเรียนที่รัทเกอร์ส ได้ไม่กี่อาทิตย์ เป็นนักไวโอลินที่ดูท่าจะมีอนาคตไกล น้องอาศัยอยู่ในหอพักนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยจัดให้ แชร์ห้องร่วมกับเพื่อนอีกคนซึ่งก็เป็นเพื่อนที่ร่วมเรียนไฮสกูลเดียวกันมา อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนร่วมห้องน้องก็ทวีต (Twitter) กระจายข่าวว่า วันนี้น้องขอเขาใช้ห้องสำหรับกิจส่วนตัวซักสองสามชั่วโมง แต่พอเขา iChat เข้าไปที่เครื่องแมคของตัวเองในห้อง เขาก็เห็นผ่านเว็บแคมว่าน้องกำลังมีอะไรๆ อยู่กับผู้ชายอีกคนหนึ่งอยู่

[หมายเหตุ: iChat เป็นโปรแกรมที่มีอยู่บนเครื่องแมคอินทอช คล้ายๆ Skype ที่เราใช้กัน เราสามารถหมุนเข้าไปหาเครื่องที่มี iChat ได้ ถ้าตั้งโปรแกรมไว้ให้มันรับสายโดยอัตโนมัติ พอมีคนโทรเข้าไปปุ๊ป เว็บแคมที่ติดอยู่กับเครื่องก็จะเริ่มทำงาน คนที่โทรเข้าไปก็จะเห็นหน้าคนรับโทรศัพท์ทันที]

เรื่องเศร้าเริ่มขึ้นที่ว่าเพื่อนน้องไม่ได้ทวีตกระจายข่าวอย่างเดียว แต่ยังฉวยโอกาส แกล้งน้อง (Cyber-bully) โดยเอาวิดีโอที่ดึงได้จาก iChat มาถ่ายทอดสดให้คนอื่นได้ร่วมเห็น”กิจกรรมของน้อง”ด้วย

เด็กเพิ่งจบไฮสกูล อายุ 18 ก็ยังเป็นเด็ก ยังคิดไม่ทัน (หรือไม่ทันคิด) คงไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าจะแกล้งเพื่อนเอาสนุก แต่แน่นอนว่า เรื่องอย่างนี้ คนที่โดนกระทำคงไม่รู้สึกสนุกด้วย ดูเหมือนว่าน้องเพิ่งมารู้ทีหลังว่ากิจกรรมของตัวเองโดนประจานไปทั่วอินเทอร์เน็ต เพราะเพื่อนๆ ในหอเอาไปซุบซิบกัน ข่าวรายงานว่าน้องเองก็ไม่เคยเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์หรือไม่ เจอเพื่อนแกล้งขนาดนี้น้องเลยไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนแถมกว่าน้องจะรู้เรื่อง ก็ดูเหมือนว่าเพื่อนได้แกล้งประจานน้องไปหลายหนแล้ว ข่าวรายงานต่อว่าน้องได้ไปปรับทุกข์ในหน้าเว็บไซต์ชุมชนเกย์ว่า”โดนแกล้ง แต่ถึงฟ้องโรงเรียน ก็คงไม่มีใครทำอะไรจริงจังอยู่ดี” อีกวันสองวันต่อมา น้องก็เข้าไปอัพเดทสเตตัสตัวเองใน Facebook บอกว่า “Jumping off the gw bridge sorry” แล้วน้องก็ไปโดดน้ำตาย

ถึงขณะนี้ แม้เรื่องของน้องจะซาไปจากหน้าหนังสือพิมพ์มากแล้วก็ตาม ฉันก็ยังรู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะฉันเองก็เคยไปร่ำเรียนที่รัทเกอร์มาเกือบสองปี นึกภาพออกว่าหอพักที่น้องอยู่ตั้งอยู่ตรงไหน รัทเกอร์เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่มาก เป็นเด็กต่างพ่อต่างแม่ ต่างภาษา ต่างเผ่าพันธุ์มากมาย นึกภาพน้องเพิ่งจากบ้านมาอยู่หอเอง แล้วก็ออกจะเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง

ฉันพยายามอย่างมากที่จะไม่เล่าเรื่องนี้ให้โอนเอียงกล่าวโทษไปทางใดมากจนเกินไป สำหรับฉันทุกคนน่าสงสารหมด แต่แน่นอนว่าพอคนทั่วไปทราบเรื่องก็จะพากันโจมตีเพื่อนร่วมห้องของน้องและเด็กผูู้หญิงอีกคน ซึ่งเป็นเจ้าของห้องที่เพื่อนร่วมห้องของน้องเข้าไปขอใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจะถ่ายทอดกิจกรรมของน้องทางอินเทอร์เน็ต นักวิชาการบางคนก็บอกว่าอาจจะเป็น Hate Crime (การก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากความลำเอียง จากการเกลียดชังเป็นการส่วนตัว) ก็ยังดีที่ไม่มีใครพูดว่าเป็นเรื่องของเชื้อชาติ เพราะน้องที่ตายเป็นคนอเมริกัน (หัวแดง ปากแดง หน้าตาน่ารัก ดูใจดี เป็นศิลปิน) ในขณะที่รูมเมทของน้องเป็นเด็กอินเดียอเมริกัน และเด็กผู้หญิงอีกคนทีร่วมขบวนการด้วยเป็นเด็กจีนอเมริกัน

ฟังนักวิชาการถกกันใน CNN แล้วก็เห็นด้วยกับเค้าว่าบทเรียนที่เราได้จากเรื่องนี้คือ เด็กๆ ไม่รู้จริงๆ ว่าอำนาจของการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตมันมีอิทธิพลให้คุณให้โทษได้มากเพียงใด ชีวิตเด็กรุ่นนี้ ทุกๆ วันก็อยู่กับอินเทอร์เน็ต อยู่กับ Facebook กับ Twitter  ทำอะไรนิด อะไรหน่อย ก็อัพเดทบนเว็บ พลอยทำให้คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเอาเรื่องของอื่นมาป่าวประกาศบนเว็บด้วย ในห้องเรียนวิชาการตลาดของฉัน อาจารย์มักจะพูดว่า เด็ก Generation Y นี้ เป็นรุ่นที่ไม่มี Privacy ทำอะไรก็อยากให้คนอื่นรู้เรื่องของตัวไปด้วยหมด ต่างกับคน Generation อื่นๆ ที่มักจะสงวนข้อมูลส่วนตัวไว้ให้มากที่สุด

ที่แน่ๆ ว่าคนที่เสียใจที่สุดคือพ่อแม่ญาติพี่น้องของน้อง เพื่อนสองคนที่ทำผิดก็น่าสงสาร กลายเป็นเด็กที่อนาคตมืดมน เพราะคงต้องเข้าคุกแน่ๆ ไหนจะพ่อแม่ของเด็กสองคนนี้ ที่คงเศร้ามากที่ลูกต้องเข้าคุก ทั้งๆ ที่ชีวิตดูท่ากำลังเริ่มต้นไปได้ด้วยดีได้เข้ามหาวิทยาลัยอย่างรัทเกอร์ส

ฉันสงสัยว่าทำไมน้องเค้าไม่ปรึกษาพ่อแม่  ถ้าเค้าไปปรึกษาพ่อแม่ เค้าคงไม่ต้องโดดน้ำตาย คุณสามีสันนิษฐานว่า เผลอๆ พ่อแม่ก็อาจจะไม่เคยรู้ว่าน้องเป็นเกย์ แล้วน้องก็คงไม่คิดว่าพ่อแม่จะเข้าข้าง เผลอๆ อาจจะโดนดุที่ไปมีอะไรกับผู้ชายอีก จะไปปรีกษา Counselor ที่มหาวิทยาลัย (เป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษากับนักศึกษาเรื่องปัญหาชีวิตทั่วไป) ก็คงไม่กล้า เพราะน้องเพิ่งมาใหม่

ฉันคิดว่าชีวิตวัยรุ่นเป็นช่วงชีวิตที่ลำบากที่สุดสำหรับมนุษย์ เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจ ต้องเอ็นทรานซ์ ต้องมีแฟน ต้องตามเพื่อน แต่ในขณะเดียวกันวุฒิภาวะก็ยังไม่พร้อม ยังไม่มีบรรทัดฐานมาช่วยให้ตัดสินใจได้ดีที่สุด เลยจะรู้สึกว้าวุ่นใจมากเป็นพิเศษ

เรื่องของน้องนี้ ทำให้ฉันนึกถึงคำอวยพรของแม่ แม่มักจะอวยพรให้ฉันได้เจอกับคนดีๆ เจอกับเพื่อนดีๆ แล้วชีวิตจะดีเอง ถ้าน้องได้รูมเมทที่มีวุฒิภาวะมากกว่านี้ เรื่องของน้องคงไม่จบลงความเศร้าเช่นนี้

อ่านข่าวเต็มๆ เกี่ยวกับน้องได้ที่ New York Times

ห้าร้อยล้านแล้วจ้า!!!

Facebook Page

Book of Face

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็มี Facebook ไม่ใช่แต่เฉพาะมนุษย์ทั่วไปเท่านั้น แต่ Facebook ยังกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ธุรกิจหลายๆ แห่งใช้โฆษณาสินค้าและบริการ แน่นอนใครๆ ก็อยากใช้ เพราะไม่ต้องเสียตังค์เลย แค่เปิด account กับ Facebook ใช้ได้แล้ว บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้วอย่างนี้ Facebook จะได้ตังค์ได้อย่างไร ง่ายๆ ก็คือโฆษณาที่โชว์หราอยู่มุมด้านขวาของจอ เข้าตำรับเดียวกับ  Wordpress ที่ฉันใช้เขียนบล๊อกอยู่นี่ ดูดีๆ จะเห็นโฆษณาแฝงปรากฏอยู่เป็นระยะๆ

ร้านค้าหลายแห่งในเมืองนี้ก็มี Facebook เอาไว้ให้ลูกค้าเข้ามาเป็นแฟน รับข่าวสารข้อมูลกันทันใจ อย่างร้านขนมปังร้านโปรดที่้บ้านที่ชื่อ On the Rise Artisan Bread ก็มี Facebook ของที่ร้านเหมือนกัน ฉันคิดว่าทำการตลาดแบบนี้ ออกจะน่าสนใจว่ามีเว็บไซต์เสียอีก เพราะว่าเป็นการตลาดเชิงรุก เข้าหาลูกค้าได้ทันใจ แถมยังได้รับฟีดแบ๊กทันทีด้วย ที่เมืองไทยไม่รู้เป็นยังไง แต่รู้ว่าที่อเมริกา คนติด Facebook มาก ประมาณว่าต้องคอยอัพเดททั้งกิจกรรมของตัวเอง และเช็คกันอยู่ตลอดว่าเวลาเพื่อนๆ ทำอะไรกันไปถึงไหนแล้ว ที่รู้เพราะแอบเห็นเพื่อนๆในชั้นเรียนทำกัน เวลาอาจารย์สอน พวกนี้ก็จะเปิดโน๊ตบุ๊คขึ้นมา ทำเหมือนกับว่าจดเล็คเชอร์ลงในคอมพิวเตอร์ แต่จริงๆ คือนั่งเช็ค Facebook อย่างเมามัน เห็นมาแล้วกับตา

Facebook เพิ่งประกาศออกมาว่าตอนนี้มีคนสมัครเป็นสมาชิกแล้ว 500 ล้านคน  PCWorld เลยสรุปออกมาเป็น Fun Facts ให้อ่านกันเล่นๆ ว่า ถ้ามีจำนวนสมาชิกมากขนาดนี้ เปรียบเป็นประเทศ ก็ถือว่าประเทศ Facebook นี้มีประชากรเป็นอันดับสามในโลก รองจากจีนและอินเดียเชียวนา ไม่ใช่เล่นๆ ไป

ฉันไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่าจำนวนสมาชิกจะมากขึ้นหรือน้อยลง ข่าวที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ข่าวเรื่องผลกระทบของการโพสต์ข้อมูลและรูปภาพทั้งหลายของมนุษย์ชาว Facebook มีบทความใน New York Times หัวข้อ The Web Means the End of Forgetting พูดถึงมนุษย์หลายคนที่โดนไล่ออกจากงาน หรือพลาดจากการได้งาน จากข้อความหรือภาพที่เอาไปแปะไว้ในพวก Social Networking sites ทั้งหลาย ในบทความยกเรื่องของครูโรงเรียนมัธยมคนหนึ่งที่เพนซิลเวเนียที่แปะรูปตัวเองในงานเลี้ยง ใส่หมวกโจรสลัด พร้อมมือถือแก้วยกขึ้นดื่ม (เอื๊อก) อยู่ คำบรรยายใต้ภาพเขียนว่า “Drunken Pirate” ครูคงนึกว่าขำ แต่ที่โรงเรียนไม่ขำด้วย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ครูคนนี้ซึ่งกำลังเรียนและจบมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ก็โดนคณบดีที่คณะบอกว่าพฤติกรรมไม่เหมาะสมถือว่าเป็นการยั่วยุให้เยาวชนดื่ม(เหล้า) ไม่สมควรจะได้ปริญญา

ครูคงยั๊วมาก วิ่งไปฟ้องศาล บอกว่า เอ๊ะ นี่มันล่วงละเมิด First Amendment กันนี่นา (ที่บอกว่า Congress shall make no law respecting an establishment of religion, or prohibiting the free exercise thereof; or abridging the freedom of speech, or of the press; or the right of the people peaceably to assemble, and to petition the Government for a redress of grievances.)  ชั้นไปเที่ยวหลังเลิกงาน เวลานั้นไม่ได้ทำหน้าที่เป็นครูเสียหน่อย ชั้นก็มีสิทธิ์ที่จะเสรีภาพของชั้นสิ

ศาลกลับไม่เห็นด้วยบอกว่า ครูทำงานในโรงเรียน ถือเป็น public employee แต่กลับมีรูปที่ไม่ได้แสดงออกสอดคล้องกับแนวทางที่คนทั่วไปเห็นว่าถูกต้อง (public concern) เพราะฉะนั้นภาพของครูไม่ถือว่าเป็นการแสดงออกที่สมควรได้รับการปกป้อง (protected speech)

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อสีปีที่แล้ว แต่ก็ยังเป็นอุทธาหรณ์ได้ดีสำหรับในยุคนีั ยุคที่การกระทำใดๆ บนเว็บไซต์ยากที่จะลบเลือน ยิ่งเมื่อ Library of Congress ออกมาประกาศว่าจะเก็บข้อความที่ทุกคนทวีตไว้ให้หมด (คนที่นี่ช่างเก็บจริงๆ) ฉันเห็นทั้งรูป ทั้งข้อความทั้งหลายที่คนเอาไปแปะไว้ในเว็บ แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าวันหนึ่งมันจะกลับมาทำร้ายเราโดยที่เราไม่รู้ตัวมั้ยนะ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ฉันยังไม่ค่อยได้แปะข้อความเท่าไหร่ (เอาแต่อ่านของคนอื่นอย่างเดียว)  รูปภาพก็พยายามแปะแต่รูปทำกับข้าว ยังแหยงๆ อยู่ ไม่รู้ว่าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

เพิ่งมาเห็นว่ากรุงเทพธุรกิจก็ลงบทความแนวเดียวกันนี้ ชื่อ “อยากตกงาน อ่านด้านนี้” เหมือนกัน ดีใจที่มีคนนึกถึงเรื่องนี้หลายคน