Posts Tagged ‘สิ่งแวดล้อม GoGreen!’

ถึงเวลาพาน้องไปตรวจ Ohio E-Check

[๑๘ กันยายน ๒๕๖๔] เช้านี้รู้สึกภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะโชว์ฝีมือเปลี่ยนฝารองนั่งชักโครกได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังได้ลองเอารถไปทดสอบ E-Check โดยใช้ตู้ตรวจด้วยน้ำมือของตัวเองหรือ Self-serve Kiosk และประสบผลสำเร็จอย่างงดงามอีกด้วย

E-Check ที่่ว่านี่คือ Emissions Check แปลเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ก็คือการตรวจระบบการปล่อยควันเสียของรถยนต์ โดยปกติหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในโอไฮโอจะบังคับให้เจ้าของรถยนต์นำรถไปตรวจทุก ๆ 2 ปี ตรวจผ่านแล้วให้ส่งส่วนท้ายของรายงานผลตรวจแนบไปกับแบบขอต่ออายุทะเบียนรถยนต์ รัฐบาลที่นี่เน้นความสะดวกของประชาชนเป็นหลัก (ไม่อย่างนั้นคงโดนด่าหูบาน) นอกจากจะนำรถไปตรวจที่ศูนย์ตรวจของรัฐที่มีอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ได้แล้ว เรายังสามารถนำรถไปทำการทดสอบที่อู่ซ่อมรถใกล้บ้านที่เขารับตรวจได้อีกด้วย

หลาย ๆ ปีที่ผ่านมาฉันเองก็อาศัยอู่ซ่อมรถแถวบ้านนี่เป็นหลัก ดีที่ไม่ต้องขับไปไกลและรอไม่นาน มาปีนี้ชีวิตเกิดยากขึ้น เพราะมีงานต้องทำตลอดวัน หาเวลาแวปเอารถไปตรวจแทบไม่ได้เลย พอหาเวลาหนีงานไปได้ ปรากฏว่าอู่ที่เคยไปตรวจดันปิด ขับไปสองครั้ง ก็ปิดทั้งสองครั้ง ครั้งแรกปิดฉลองวันปีใหม่ของคนยิว รอช ฮาชานาห์ (แถวบ้านฉันมีชุมชนยิวขนาดใหญ่ เจ้าของอู่เป็นคนยิว) ครั้งที่สองปิดเนื่องในวันยมคิปปูร์ (เป็นเทศกาลการขออภัยโทษจากบาปที่ได้ทำและถือศีลอด) เจออย่างนี้ เลยคิดได้ว่าต้องเปลี่ยนแผนใหม่เสียแล้ว

พี่เอ็นโซป้ายยาว่าให้ลองไปใช้บริการด้วยตัวเองกับตู้สิ ง่ายและสะดวกมาก รวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน ฉันลองทำการบ้านดู โชคดีที่เจอวิดีโอของสถานีโทศทัศน์ของ abc 5 ของคลีฟแลนด์ที่รายงานข่าวไว้เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว บอกขั้นตอนละเอียดทุกเม็ด ดูแล้วไม่น่าจะเกินความสามารถ ก่อนไปก็ขอให้คุณสามีชี้เป้าให้ดูว่า Data Port อยู่ตรงไหน ทำใจได้แล้วก็ขับรถไปเลย

สรุปว่าง่ายและรวดเร็วอย่างที่เขาว่าจริง ๆ ขั้นตอนง่าย ๆ ก็คือเอาเครื่องแสกนเนอร์จากตู้มาสแกนเลขตัวถังรถยนต์ (ฝรั่งเรียก VIN) เสร็จแล้วก็กรอกจำนวนไมล์ที่รถวิ่งมา เอาเครื่องอ่านข้อมูลมาเสียบกับตัวดาต้าพอร์ท สตาร์ทรถ รอประมาณ 1 นาทีให้เครื่องอ่าน เสร็จแล้วก็จะมีผลการตรวจสอบพิมพ์ออกให้จากตัวเครื่อง เสร็จสรรพใช้เวลาไปไม่เกิน 5 นาที ถ้าไปทำที่อู่ ต้องรอกว่าช่างจะว่าง เร็วสุดก็ยังต้องใช้เวลา 15 นาทีเป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ดี ดูท่าทางเจ้าตู้นี่จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมสักเท่าไร หลาย ๆ คนให้เหตุผลว่าปกติมีเจ้าหน้าที่ทำให้ ทำไมฉันจะต้องมาลงมือทำเองด้วย คงอีหรอบเดียวกับเครื่องชำระเงินด้วยตัวเองในซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งคนหลาย ๆ คนไม่ชอบใช้ เพราะคิดว่ายุ่งยาก สร้างปัญหามากกว่าที่จะช่วยประหยัดเวลา อย่างไรก็ดีฉันคิดว่า E-Check Self Serve Kiosk นี่ ใช้ง่ายกว่าเครื่องในซุปเปอร์มาก ซื่อ ๆ ไม่มีขั้นตอนซับซ้อน

ตอนนี้เริ่มติดใจตู้ตรวจสภาพรถด้วยตัวเองแล้ว แต่ไม่รู้ว่าคราวหน้าจะยังต้องเอารถไปทดสอบไหม ข่าวบอกว่าสภาผู้แทนราษฎรของรัฐฯ (นำโดยผู้แทนจากพรรครีพับลิกัน) อาจจะขอให้ยกเลิกการตรวจ E-Check ละ เพราะตั้งแต่ตั้งโครงการนี้ในปี 1996 มลพิษทางอากาศก็บรรเทาลงไปเยอะมากโขแล้ว และกฏนี้ยังเป็นการผลักภาระให้กับคนรายได้น้อยที่ต้องหาทางซ่อมเครื่องยนต์หรือซื้อรถใหม่เพื่อให้รถผ่านการทดสอบด้วย

หนังโฆษณาบน Youtube

QR Code

QR Codes ทั้งของทั่วไปและของไมโครซอฟท์

หนึ่งในวิชาที่ลงเรียนเทอมนี้ คือวิชาการจัดการทางการตลาด (Marketing Mangement) นอกจากต้องฟังคำบรรยายในห้องเรียนแล้ว อาจารย์ยังให้ฝึกปฏิบัติทำแผนการตลาดอีกด้วย แบ่งนักเรียนในห้องออกเป็นหกกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มเลือกสินค้าหรือบริการตัวใดก็ได้มาลองทำแผน กลุ่มอื่นๆ เลือก Apple TV บ้าง เลือก ทีวีสามมิติบ้าง กลุ่มฉันเลือกทำแผนการตลาดให้กับบริการล้างรถชื่อ The Rainforest Car Wash อยู่ในคลีฟแลนด์ไฮทส์นี่เอง จุดเด่นของศูนย์ล้างรถนี่คือเน้นรักษ์ธรรมชาติ ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และมีการบำบัดน้ำก่อนที่จะเททิ้งลงท่อ เข้าคอนเซ็ปต์ Environmentally Friendly หรือ Go Green! ที่ฝรั่งเมืองนี้กำลังอินนักอินหนา

ถ้าใครได้มาอยู่คลีฟแลนด์ ไฮทส์จะเห็นเลยว่าคนที่ใช้รถไฮบริดกันเยอะมาก เป็นคนที่มีสำนีกรับผิดชอบต่อสังคมสูง พยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นต่อๆ ไป

ในกลุ่มตกลงกันว่าเราจะถ่ายวิดีโอตลกเป็นการโฆษณาที่ล้างรถแห่งนี้ แล้วเอาไปแปะไว้ใน Youtube ให้คนเห็นเยอะๆ จะได้ตามไปใช้บริการ แถมใครที่ไปบอกเค้าว่าได้เห็นว่าวิดีโอนี้ทาง Youtube ก็จะได้ลดค่าล้างรถไปอีก 2 เหรียญ เป็นการทำการตลาดไปด้วยในตัว

เทคโนโลยีอีกอย่างที่เราเสนอในแผนคือ การเพิ่ม QR Code ลงไปในสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิดของทางร้าน คิวอาร์โค้ดนี่ใช้งานง่ายๆ คล้ายๆ กับบาร์โค้ดทั่วไป เพียงแค่ใช้มือถือที่มีโปรแกรมอ่านโค้ดบรรจุอยู่ แล้วบรรจงถ่ายภาพเจ้าตัวสัญลักษณ์นี้ แป๊ปเดียว เจ้าของมือถือก็สามารถเปิดเว็บไซต์ที่เชื่อมต่อกับโค้ดนี้ได้เลย โดยไม่ต้องพิมพ์ URL ให้เมื่อยมือ

โลกเดี่ยวนี้ก้าวไปไกลจริงๆ วันนี้เพิ่งอ่านบทความในนิวยอร์กไทม์ บอกว่าแนวโน้มต่อไปคนจะใช้อีเมล์น้อยลงๆ ทุกวัน แต่จะเปลี่ยนไปใช้การส่งข้อความสั้น (SMS หรือ Instant Messaging) มากกว่า เพราะได้รับคำตอบรวดเร็วทันใจดี กว่าจะเขียนอีเมล์ ต้องมีคำขึ้นต้น คำลงท้าย อืดอาดไม่ทันใจ คนสมัยนี้

ถ้าเกิดเป็นอย่างนี้จริงๆ สงสัยเหลือเกินว่าต่อไป จะมีคนสามารถเขียนข้อความยาวๆ เป็นย่อหน้าๆได้ซักที่คน

โรงเรียน(สี)เขียว

(อดีต)ที่จอดรถในโรงเรียน

(อดีต)ที่จอดรถในโรงเรียน

ตั้งชื่อเรื่องอย่างนี้เพื่อจะให้คล้องกับโครงการ อีสานเขียว ที่เคยโด่งดังในบ้านเรา เมื่อนับสิบปีที่แล้ว

เปิดเทอมใหม่คราวนี้ นอกจากจะได้เพื่อนใหม่แล้ว โรงเรียนยังเปลี่ยนปรับโฉมใหม่รับแฟชั่น Go Green ที่กำลังฮิตฮอตอยู่ในอเมริกา โดยการกำจัดลานจอดรถคอนกรีตที่อยู่หน้าห้องสมุดไปและปรับพื้นที่ให้เป็นลานกว้าง (Quad) ปลูกหญ้าสีเขียวสดงดงามแทน ฟังๆ แล้ว คนเมืองหลวงอย่างฉันก็ประหลาดใจกับการตัดสินใจของโรงเรียนเหมือนกัน ที่บ้านฉัน เค้ามีแต่ซื้อที่นาเอามาปลูกตึก ปลูกที่จอดรถ ปลูกรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ทำไมอยู่ๆ ดีๆ โรงเรียนถึงได้รื้อที่จอดรถออก แล้วปลูกหญ้าแทนเสียเล่า

ความคิดเดิมๆ ของฉันก็เป็นแค่ความคิดเชยๆของยุคก่อน มาอยู่คลีฟแลนด์ ได้ยินคนบ่นกับนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเมืองว่า อยากให้มี Green Space มากขึ้นเหลือเกิน ฉันมองไปรอบๆ ตัวแล้วก็อดคิดในใจไม่ได้ว่า นี่ยังไม่มากอีกเหรอ ในกรุงเทพฯ ที่ฉันอยู่ ยังไม่มีต้นไม้ริมถนน ไม่มีสวนสาธารณะ แทบจะทุกๆ 5 กิโลเมตร อย่างเมืองนี้เลย แต่ฝรั่งก็ยังยืนกรานว่า ที่มีอยู่นี่ไม่พอ ต้องมีมากขึ้นกว่านี้อีก

อย่างไรก็ดี ฉันฟังแล้วก็ชื่นใจ ต้นไม้ย่อมดีกว่าตึกแน่นอน

หนังสือพิมพ์ประจำโรงเรียน The Carroll News ฉบับวันที่ 9 กันยายน 2553 รายงานข่าวว่าเหตุผลที่โรงเรียนรื้อที่จอดรถออก เพราะจะต้องเตรียมตัวจัดงานฉลองครบ 125 ปีในปีหน้า คณะจัดงานคงต้องการพื้นที่กว้างๆ เอาไว้รองรับคนที่มางาน พื้นที่จอดรถที่รื้อออกไปนี้ ถือเป็นพื้นที่จอดรถชั่วคราว สร้างขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีนี่เอง เพื่อทดแทนพื้นจอดรถที่หายไประหว่างการก่อสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ the Dolan Science Center  ตอนนี้ตึกโดแลนก็สร้างเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องกำจัดพื้นที่จอดรถนี่เสียที

อีกเหตุผลหนึ่งที่โรงเรียนต้องรื้อที่จอดรถออกเป็นเรื่องของการจัดการระบายน้ำ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ฉันไม่เคยรู้มาก่อน สรุปได้ง่ายๆ ว่า การมีพื้นที่คอนกรีตในบริเวณโรงเรียน ทำให้โรงเรียนต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ “ศูนย์จัดการการระบายน้ำเขตตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐโอไฮโอ” (Northeast Ohio Regional Sewer District) ถึงปีละ 36,000 เหรียญ (คิดเป็นเงินไทยก็ล้านกว่าบาท) หลักง่ายๆ ก็คือ พอฝนตก น้ำก็ต้องไหลลงท่อประปาให้หน่วยงานนี้จัดการบำบัดน้ำให้สะอาดก่อนจะปล่อยลงแม่น้ำคาโฮกา (Cuyahoga)  หรือทะเลสาบอีรี่ (Erie) ให้ถูกต้องตามกฏหมายรักษาสิ่งแวดล้อมอย่าง Clean Water Act ของรัฐบาลกลาง

พูดสั้นๆ ก็คือว่า การที่โรงเรียนกำจัดพื้นที่คอนกรีตขนาดใหญ่ออกไปและปลูกหญ้าแทน ทำให้ประหยัดตังค์ไปได้มากโข ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำให้กับเขตนั่นเอง

สรุปว่าเปิดเทอมใหม่นี้ ที่จอดรถหายไป 250 ที่ โรงเรียนเลยเข้มงวดกับการเอารถเข้ามาจอดในโรงเรียน แต่ก่อนใครจะเอารถเข้ามาก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องซื้อบัตรอนุญาตเท่านั้น เทอมละ 120 เหรียญ (แต่ฉันจ่ายเทอมละ 60 เหรียญ  เพราะเป็นนักเรียนภาคค่ำ เอารถเข้ามาได้หลังสี่โมงเย็นเป็นต้นไป) คุณยามหน้าประตูเลยค่อนข้างจะเข้มงวด ไม่มีบัตรจอดรถก็ห้ามเข้า ให้เอารถไปจอดที่ University Square ที่โรงเรียนเช่าจากเขตไว้ให้ จอดได้ฟรี แล้วก็นั่งรถ Shuttle Bus เข้ามา ซึ่งก็ดูจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเด็กปริญญาตรี กลายเป็นว่าถึงที่จอดรถจะมีน้อยลงถึง 250 ที่ แต่ก็ดูเหมือนจะมีที่ว่างมากกว่าเดิม แถมตอนนี้ก็มีการรณรงค์ให้ขี่จักรยาน มีจักรยานให้เช่าฟรีอีกต่างหาก

ดีใจที่เมืองนี้จะกลายเป็นสีเขียวเข้มขึ้น

The Midges

ซาก Midges ที่ริมหน้าต่างครัว

ซาก Midges ที่ริมหน้าต่างครัว

ที่บ้านนี้มักจะมีปัญหากับแมลงต่างชนิดเสมอ ปีที่แล้วช่วงเดือนสิงหาคม (จำได้ว่าแม่นว่าสามวันก่อนที่แคมารอนจะขับรถมาเยี่ยม) เราก็ต่อสู้กับแมลงวันนับสิบตัวที่เกาะอยู่บนกระจกนิ่ง ชนิดว่าไล่แล้วก็ไม่ยอมถอย ฉันพยายามบอกให้คุณสามีเอาไม้ตี หรือไม่ก็เอายาฉีดไล่ แต่พี่เอ็นโซก็ไม่ยอม บอกว่าศาสนาพุทธสอนไม่ให้ฆ่าสัตว้ตัดชีวิตไม่ใช่หรือ ฟังแล้วก็อึ้งไป สุดท้ายเลยต้องใช้วิธีเปิดมุ้งลวดให้แมลงวันบินออกไปเอง ถ้าไม่บินก็ปล่อยให้เกาะคาอยู่อย่างนั้น ไม่แตะต้อง

เดือนกันยายนปีนี้ เราเจอฝูงแมลงฝูงเบ้อเริ่มในบ้าน ไม่รู้ว่าเข้ามาได้อย่างไร แต่ดูน่ากลัว ชวนให้นึกถึงหนังเรื่อง The Birds ของฮิชท์ค๊อค อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าไม่ใช่บ้านเราบ้านเดียวที่ต้องเผชิญกับแมลงฝูงนี้ เพราะวันรุ่งขึ้นก็มีประกาศจากทางโรงเรียนหัวข้อ “Bugs on Campus and In the Halls” ออกมาชี้แจง (กึ่งปลอบขวัญ) ให้เด็กนักเรียนที่ย้ายมาคลีฟแลนด์ใหม่ๆ ทราบว่า แมลงที่พวกท่านเจอในหอหรือในห้องเรียนนั้น เรียกว่า Midge เป็นแมลงปกติ ไม่มีพิษไม่มีภัย เพียงแต่อาจจะก่อความรำคาญให้บ้าง มันชอบเล่นไฟและแสวงหาที่อบอุ่น  โดยทั่วไปเจ้ามิดจ์นี้จะมีอายุแค่ 24-48 ชั่วโมงเท่านั้นเอง แล้วก็จะตายไปเอง อย่าได้ตกใจกลัวไป เพราะถือเป็นแมลงที่พบได้ประจำในคลีฟแลนด์ แต่ถ้ารำคาญมากๆ ก็จงใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดมันออกไปซะ (อ่านแล้วต้องท่อง สัพเพสัตตา ไปด้วย)

แปลกจริงๆ ตอนมาอยู่ใหม่ๆ ปีที่แล้ว ไม่เห็นเคยเจอแมลงพวกนี้เลย

อ่านเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต เค้าบอกว่าเจ้ามิดจ์นี้จะปรากฏตัวในคลีฟแลนด์ช่วงต่อของฤดูใบไม้ผลิ และช่วงต่อฤดูใบไม้ร่วงเท่าน้น ตอนที่อุณหภูมิในทะเลสาบอีรี่ลดลงไปเป็น 60 องศา (ประมาณ 16-17 องศาเซสเซียส) แล้วคนเขียนก็เล่าต่อด้วยความภูมิใจว่า เจ้ามิดจ์เนี่ย เป็นตัวนำโชคที่ทำให้ทีมเบสบอล Indians ของเมืองคลีฟแลนด์ เอาชนะทีมแยงกี้ของนิวยอร์กมาแล้ว (เพราะมันบินไปบินมา กวนคนขว้างลูก (Pitcher) ของทีมแยงกี้จนเค้าเสียสมาธิเลยขว้างได้ไม่ดี ทำให้ทีมแพ้ไปเลย)

ตอนนี้ไม่มีมิดจ์แล้ว แต่พอนึกภาพมันรวมตัวกันเกาะอยู่ที่หน้าต่าง เกาะอยู่บนรถที่ไร แล้วก็อดขนลุกไม่ได้จริงๆ

หิ้วถุงไปจ่ายตลาด

Blue bags for recycle stuff

Blue bags for recycle stuff

ไหนๆ เขียนเรื่องร้านจีนแล้ว ขอต่อด้วยซุปเปอร์มาร์เก็ตฝรั่งนิดนึง แถวๆ บ้าน มีหลายร้าน ทั้ง Whole Foods เอย Dave’s Market เอย Marc’s เอย Zagara’s ก็มี  สามารถเลือกไปได้ตามใจชอบ ราคาค่อนข้างจะ Competitive เพราะต่างคนต่างก็แข่งกันขาย ไม่มีใครอยากขายแพงกว่าเจ้าอื่นมาก ร้านที่ที่บ้านไปเป็นประจำคือ Giant Eagle ที่ไปเพราะมีของที่ต้องการค่อนข้างครบ อย่างเช่น Hummus และ ไวน์ (แต่ไม่มีซอสบาริลลา) อีกแล้วยังอยู่ใกล้ Nordstorm Rack ด้วย (บางทีก็แอบแวะช้อปก่อนไปจ่ายกับข้าว)

ร้านที่ไปบ่อยรองลงมาคือ Heinen’s ค่อนข้างจะใกล้บ้าน (ขับรถไปประมาณ 10 นาที) ข้อสำคัญเป็นร้านให้ที่ถุงหูหิ้วสีฟ้า ที่จำเป็นต้องเอามาใส่ขยะรีไซเคิลทุกๆ วันพฤหัสบดี คิดๆ ไปแล้วก็ไมแน่ใจว่าช่วยโลกรึเปล่า จริงๆ เราน่าจะไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกเลยซะด้วยซ้ำไป

ข้อพึงสังวรณ์ของการไปซุปเปอร์คือ ไม่ควรไปวันเสาร์บ่าย วันอาทิตย์บ่าย และวันจันทร์เช้า เพราะของจะเกลี้ยง ขาดตลาด หิ้งว่างกันเป็นแถว (เดาว่าเหมือนโซเวียตยุคโบราณ) ไปวันธรรมดาได้ยิ่งดี เพราะคิวจ่ายตังค์จะไม่ยาวมาก แต่ถ้าอยากทำอะไรด้วยตัวเอง บางแห่ง อย่าง Giant Eagle เค้าก็มี Self-Check Out row ให้ สามารถสแกนของ จ่ายตังค์ได้เอง เอาของใส่ถุงเอง โดยไม่ต้องกวนพนักงาน (ยกเว้นว่า ถ้ามีไวน์ เค้าก็ต้องมาตรวจไอดีและกด approve ให้อยู่ดี) อย่างไรก็ดี โปรเฟสเซอร์ที่โรงเรียนฉันก็บ่นดังๆ ให้ฟังในห้องเรียนว่า ทำไมมาซื้อของเค้าแล้วยังต้องมาทำงานแทนพนักงานเค้าอีก ก็ออกจะเห็นด้วยกับอาจารย์เหมือนกัน เพราะบางทีพี่เล่นเปิด Self Check-out counter row ตั้งสี่ห้าแถว แต่แถวที่มีพนักงานคิดตังค์มีแค่สองแถวเอง

Whole Foods Bag by Sheryl Crow

Whole Foods Bag by Sheryl Crow

หลายอาทิตย์มาแล้ว อ่านข่าวว่าเซ็นทรัลที่กรุงเทพฯ จะเริ่มเก็บตังค์ค่าถุงใส่ของ ถุงละบาท นัยว่าจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดจำนวนขยะ และได้กระตุ้นให้คนหิ้วถุงไปใส่ของเอง ในข่าว มีคนให้สัมภาษณ์ว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตในยุโรป ไม่มีถุงให้ ต้องซื้อใส่เอาเอง (แต่ตอนไปอิตาลี ก็มีถุงให้ปกตินะ แต่อาจจะเป็นประเทศอื่น) ที่เมืองคลีฟแลนด์ ที่ Heinen’s ที่ Zagara’s ที่ Whole Foods และที่ Target เค้าจะให้ส่วนลดประมาณ 5 เซ็นต์กับคนที่ถือถุงมาเอง (ถึงแม้ว่าบางทีถุงตัวเองใส่ไม่พอ ต้องเอาถุงพลาสติกเค้า ก็ได้ส่วนลดอยู่ดี) แต่ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า คนที่เค้าถือถุงมาเอง เค้าคงไม่ได้หวังส่วนลดเท่าไหร่ น่าจะเป็นจิตสำนึกส่วนบุคคลมากกว่า ที่ต้องการจะพิทักษ์โลก   ฉันเองก็พยายามเอาถุงติดมือไปทุกครั้ง เหตุผลคืออยากช่วยโลกด้วย แล้วอีกอย่างถุง Reusable bag ของ Whole Foods ดีไซน์น่ารักดี ออกแบบโดยเชอริล โครวเชียวนา พอซื้อมาแล้ว ก็เลยต้องใช้เสียหน่อย