คลุมเครือ

ปิดเทอมแล้ว ตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา ผลสอบประกาศออกมาแล้ว ถือว่าน่าพอใจ เทอมนี้ลงเรียนแค่สองวิชา แต่รู้สึกว่ายุ่งมาก เข้าใจว่าเป็นเพราะต้องไปทำงานด้วยอาทิตย์ละสามวัน ทำให้รู้สึกว่ามีเวลาว่างน้อยลง

มาเรียนปริญญาโทเป็นรอบที่สองนี้ มีการบ้านให้ทำเยอะใช่เล่นเหมือนกัน แต่ก็สนุกและรู้สึกว่าได้ความรู้มากกว่าตอนที่มาเรียนครั้งแรกเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว ครั้งนั้นยังเด็กอยู่ จบปริญญาตรีปุ๊ปก็กระโดดมาเรียนปริญญาโทเลย ยังไม่ได้รู้จักเล่ห์เหลี่ยมของโลกกลมๆ ใบนี้ ตอนเข้าเรียนก็เลยได้ความรู้แต่ในตำราและจากการบรรยายของอาจารย์ สอบก็พอผ่าน จบแล้วจบกัน แต่ครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าตัวเองเริ่มมีทักษะในการคิดและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น (Critical Thinking) ครูบาอาจารย์สอนแล้วก็เอาไปคิดต่อได้ โต้เถียงในห้องเรียนได้(บ้าง) ปรับปรุงตัวเองให้เป็นนักเรียนแบบ active มากกว่า passive อย่างที่เคยเป็นแต่ก่อนโน้น

สิ่งที่ฉันคิดว่ายากและน่าเบื่อที่สุดในการเรียนคือการเขียนรายงานส่งอาจารย์ เห็นนักเรียนฝรั่งเขียนกันโครมๆ นั่งหน้าคอมฯ สองสามชั่วโมง พิมพ์รายงานออกมาได้เป็นสิบหน้า ชวนให้เกิดความอิจฉาริษยาเป็นอย่างที่สุด ฉันเองใช้เวลาอย่างน้อยสี่วันสำหรับการเขียนรายงานสั้นๆ (ประมาณ 5 หน้า) ส่วนรายงานใหญ่ประจำเทอม (Term Paper) ต้องใช้เวลาเตรียมตัวเขียนอย่างน้อยสามอาทิตย์ ตั้งแต่คิดหัวข้อรายงาน (คิดได้แล้วต้องไปคุยกับอาจารย์ก่อนว่า เขียนเรื่องประมาณนี้ตรงโจทย์รึเปล่า) จนถึงการสืบค้นหาข้อมูล (ซึ่งเดี๋ยวนี้สะดวกมาก ไม่ต้องไปถึงห้องสมุดเหมือนสมัยก่อน   สามารถค้นจากบ้าน ผ่านระบบข้อมูลออนไลน์ของ Epsco Host ) รายงานทุกฉบับต้องเขียนเสร็จก่อนกำหนดอย่างน้อยสองวัน เพราะต้องเผื่อเวลาให้ “Personal Proof-reader” ตรวจสอบว่าเขียนได้ถูกไวยกรณ์และอ่านแล้วเข้าใจตรงกัน (ระหว่างคนไทยและคนฝรั่ง)

รายงานเรื่องล่าสุดที่เขียนส่งอาจารย์ไปเป็นรายงานประจำวิชา วิวัฒนาการของทฤษฏีการสื่อสาร (Development of Communication Theory) อาจารย์ให้โจทย์ว่าให้เขียนถึงแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งของการสื่อสาร และนำมาตั้งเป็นทฤษฏีของตนเอง ฉันตัดสินใจเลือกหัวข้อ ประโยชน์ของความคลุมเครือในงานประชาสัมพันธ์ (The Virtue of Obscurity in Public Relations) คิดแล้วว่าน่าจะเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ แล้วดูขัดแย้งกันในตัวเอง น่าจะเขียนได้สนุกดี ได้ไอเดียมาจากที่เพื่อนๆ ในห้องเรียนชอบบ่นว่าเวลาอ่านบทความทางวิชาการแล้วงงงวยเหลือเกิน ไม่รู้ว่าต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ อาจารย์ดร.บรู๊ซ เลยหัวเราะขำๆ แล้วก็พูดเชิงประชดประชันว่า อย่างนี้แหละ “Academics despise clarity.” พวกนักวิชาการเค้าไม่ชอบเขียนอะไรให้อ่านง่ายๆ หรอก

คิดดูเผินๆ แล้ว จะเป็นไปได้ยังไงว่า ความคลุมเครือจะมีประโยชน์ในการสื่อสารด้วย ใครๆ ก็รู้กันว่าลักษณะการสื่อสารที่ดี สิ่งแรกคือต้องชัดเจน ตรงประเด็น สื่อความให้ผู้รับสารเข้าใจง่ายที่สุด อย่างไรก็ดี ถ้าเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์การสื่อสารแล้ว เราจะพบว่ามีคนตั้งใจใช้ความคลุมเครือในการเขียนหนังสือมาตั้งแต่ยุคโรมัน ที่เห็นชัดคือเซนต์ออกัสตินแห่งฮิปโป พูดถึงการเขียนคัมภีร์ไบเบิ้ลให้เต็มไปด้วยวาทะเปรียบเทียบ ให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ยาก เพื่อที่ว่าคนจะได้เข้าวัด หาพระให้พระช่วยอธิบายให้ฟัง แล้วข้อสำคัญยิ่งพยายามศึกษาไบเบิ้ลมากเท่าไหร่ ก็ช่วยให้เข้าถึงพระเจ้าได้ดีมากขึ้นเท่านั้น

เล่ามาถึงตอนนี้แล้ว ก็คิดได้ว่า เรื่องพรรค์นี้ก็ยังมีให้เห็นในเมืองไทย ปัจจุบันพระสงฆ์ทั่วๆ ไปก็ยังให้พรเป็นภาษาบาลีอยู่ ถามจริงๆ ว่าจะมีซักกี่คนที่เข้าใจว่าท่านอวยพรว่าอย่างไร แต่เราก็ทำความเข้าใจด้วยตนเองว่าเป็นการให้ศีลให้พรและน้อมรับไว้ด้วยจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ยิ่งเป็นภาษาบาลีเท่าไหร่ ก็ยิ่งขลังมากเท่านั้น

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.