ไปหาหมอ

hives

ผื่น

[14 มกราคม 2554] หนึ่งสัปดาห์ก่อนการเปิดเรียน เป็นหนึ่งสัปดาห์ที่วุ่นวายกับการหาหมอ

เคยเขียนบ่นเรื่องการหาหมอที่อเมริกาไว้เมื่อนานแล้วว่าเป็นกิจกรรมที่ชวนให้ปวดหัว จากที่ป่วยอยู่แล้วก็พลอยจะป่วยหนักขึ้นไปอีก หลายวันก่อนอ่านเจอกระทู้ในพันธ์ทิพย์ มีคนถามว่าข้อเสียของอเมริกามีอะไรบ้าง ดูเหมือนว่าจะมีคนไทยหลายคนที่เห็นด้วยว่า ข้อเสียอย่างหนึ่งของอเมริกาคือการพบแพทย์

ประเทศนี้ทำอะไรก็ต้องนัดก่อน ไปตัดผม ก็ต้องโทรไปนัดช่างก่อน เอารถไปซ่อมก็ต้องนัดก่อน ไปหาหมอก็ต้องนัดก่อนเหมือนกัน ซึ่งฟังดูแล้วไม่น่าจะเหมาะเลย เพราะเวลาป่วยแล้วอยากเจอหมอ ก็ต้องอยากเจอทันที ของแบบนี้ใครจะไปกำหนดเวลาได้ สิ่งที่สร้างปัญหาคือ เวลาโทรไปนัด กว่าจะได้หมอจะมีเวลาว่างเจอก็เป็นอาทิตย์ๆ หมอบางคนคนไม่รับคนไข้ใหม่เลยด้วยซ้ำไป ฉันเคยเจอปฏิเสธมาแล้ว เศร้ามาก แล้วก็สงสัยว่าหมอนี่ปฏิเสธรับคนไข้ได้ด้วยรือ เกิดมาก็เพิ่งเคยพบเคยเจอ

ฉันโทรไปนัดหมอผิวหนังตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน คิวที่จะได้พบหมอเร็วที่สุดคือวันที่ 11 มกราคม โชคดีที่ฉันขอให้คุณสามีช่วยถ่ายรูปผื่นไว้ เลยเอาไปโชว์ให้คุณหมอดูได้ถึงวันที่ไปเจอจะไม่มีผื่นขึ้นก็ตาม คุณหมอดูอาการปุ๊ป สัมภาษณ์ต่างๆ นานาๆ แล้วก็จัดการ “refer” ส่งต่อให้หมอภูมิแพ้เลย ด้วยความที่เป็นเพราะหมอผิวหนังเป็นคนแนะนำ ฉันเลยได้ไปพบหมอภูมิแพ้ ทันที่ในอีกสองวันถัดมา (แอบสงสัยเหมือนกันว่า ถ้าโทรไปนัดเองโดยไม่มีหมอแนะนำ ก็อาจจะต้องรอไปอีกหลายเดือนกว่าจะได้เจอ) หมอภูมิแพ้ หรือที่เรียกกันว่า Allergist (เป็นศัพท์ใหม่ เพิ่งได้ยินนี่เอง) ตรวจพร้อมกับทำการทดสอบ สรุปได้ว่าฉันมีภาวะเป็นผื่นเรื้อรังแบบไม่รู้สาเหตุ ทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากการที่ร่างกายผลิตสาร antibodies ขึ้นมา ต่อต้านตัวเอง คุณหมอสั่งยาให้กิน แล้วบอกว่าอีกเดือนหนึ่งให้มาดูอีกที เป็นอันเสร็จพิธีการหาหมอของอาทิตย์นี้

ฉันยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับขั้นตอนการหาหมอที่ประเทศนี้เท่าไหร่ ที่แน่ๆ คือเวลาโทรไปนัดหมอ เค้าจะถามก่อนเลยว่ามีประกันสุขภาพหรือไม่ โชคดีว่าฉันมีอยู่แล้วก็เลยไม่มีปัญหา (แต่ก็สงสัยเหมือนกันว่าเค้าจะรับรักษาคนที่ไม่มีประกันหรือเปล่า) เวลาไปตรวจ เค้าก็จะขอดูบัตรประกันสุขภาพ (ซึ่งไม่มีรูปถ่าย) พร้อมกับใบขับขี่ เพื่อยืนยันว่าเป็นเป็นเจ้าของบัตรจริงๆ แล้วก็ให้ฟอร์มมากรอกประวัติ เสร็จแล้วก็เรียกเข้าห้องตรวจ พยาบาลก็มาถามคำถามให้ยืนยันอีกทีว่าใช่คนไข้คนนี้แน่ โดยให้บอกวันเดือนปีเกิด เสร็จแล้วพยาบาลก็จะสัมภาษณ์ว่าเป็นอะไรมา (เหมือนหาข้อมูลให้หมอไว้ก่อน) จากนั้นถึงจะได้พบหมอ

ฉันถามคุณสามีว่า ทำไมเค้าไม่ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต เหมือนที่เมืองไทยนะ อย่างนี้เค้าจะรู้ได้ไงว่า จะให้ยาเราเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ แปลกจริงๆ

พอตรวจเสร็จ หมอก็จะให้ใบสั่งยา (Prescription) หรือบางที่เค้าจะอีเมล์ตรงไปที่ร้านขายยา ให้เราไปรับเอาเอง (แปลกดีไม่เหมือนบ้านเราที่รับยาได้ที่คลินิกหมอเลย) จากนั้นฉันต้องขับรถเอาใบสั่งยานี่ไปที่ร้านขายยา แล้วก็ซื้อยาจากร้านขายยาโดยตรง ส่วนใหญ่ไปถึง ก็ต้องทิ้งใบสั่งยาไว้ แล้วนัดกลับมารับยาอีกในหนึ๋งหรือสองชั่วโมง (เพราะคิวจัดยาเค้าเยอะ ต้องค่อยๆ ทยอยทำให้)

จนบัดนี้ฉันก็ยังไม่รู้ว่าค่าไปหาหมอเท่าไหร่ เพราะเค้าส่งบิลไปเก็บกับบริษัทประกันสุขภาพเลย ถ้ามีส่วนต่าง เดี๋ยวทางคลินิกจะส่งบิลมาเก็บตังค์กับฉันเอง ส่วนค่ายา (ซึ่งแพงมาก เป็นร้อยเหรียญ) ฉันต้องจ่ายตังค์ไปก่อน แล้วค่อยส่งบิลไปเคลมกับบริษัทประกันสุขภาพทางไปรษณีย์อีกที แผนประกันสุขภาพของฉันอนุญาตให้เคลมได้ครึ่งหนึ่งของค่ายาที่จ่ายไป

ฉันบอกมินนี่ว่าฉันผิดหวังกับระบบการแพทย์ที่ประเทศนี้มาก ช่างไม่สะดวกเลย ไม่เหมือนประเทศไทย ที่มีหมอให้หาเยอะแยะไปหมด  ไม่ต้องรอนานๆ อย่างนี้ มินนี่เล่าว่า ถ้าอยากหาหมอด่วน ก็ต้องใช้เส้นสาย บอกให้หมอที่รู้จักกันลัดคิวให้หน่อย เห็นอย่างนี้แล้ว ก็ออกจะเห็นใจประธานาธิบดีโอบามาเหมือนกัน ว่าทำไมเค้าถึงอยากปฏิรูประบบสุขภาพเป็นอย่างแรก เพราะมันไม่มีประสิทธิภาพและไม่ครอบคลุมคนทุกๆ คนนึกถึงคนที่ไม่มีตังค์ทำประกันสุขภาพ ไม่รู้เค้าจะไปหาหมอที่ไหน ไม่รู้เค้าจะมีตังค์จ่ายรึเปล่า ฉันรู้สึกว่าระบบการแพทย์ที่นี่โดนระบบทุนนิยมกลืนเข้าไปอย่างเต็มตัว ต้องมีเงินถึงจะหาหมอได้

นึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ “หมอแสง” ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชเขียนไว้ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ “หลายชีวิต” ในเรื่องเล่าว่าพ่อของหมอแสงสอนลูกว่า คนเป็นหมอไม่ควรคิดเงินค่ารักษาคนไข้มาก เพราะเราควรให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตคน มากกว่าที่จะทำเพื่อต้องการผลตอบแทนเป็นเงินทอง

ก่อนจบขอนินทาคนอเมริกันเป็นการหอมปากหอมคอ คนอเมริกันหลายๆคน เชื่อว่าปัญหาแก้ได้ด้วยการกินยา (ถ้าเจอหมอไทย แบบที่ไม่ยอมให้ยากิน แต่บอกว่าให้พักผ่อนและกินน้ำเยอะๆ คนอเมริกันคงอึ้งไปเหมือนกัน) และดูเหมือนว่าบริษัทยาจะเข้าใจทัศนคติเหล่านี้เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจถ้าจะเห็นโฆษณายาแก้โรคแปลกๆ ทางทีวี* เช่น โรคขี้อาย ขาดความมั่นใจในการพบปะผู้คน หรือที่เรียกกันสวยหรูว่า ‘Social Anxiety Disorder’ คนเค้าเชื่อกันว่ากินยาแล้วแก้ปัญหาพวกนี้ได้

[*อเมริกาและนิวซีแลนด์เป็นประเทศเพียงสองประเทศในโลกเท่านั้น ที่อนุญาตให้มีการโฆษณาขายยากับผู้บริโภคได้อย่างเปิดเผย โฆษณาประเภทนี้เรียกว่า Direct to Consumer Advertising (DTC)]

[เพิ่มเติม, 1 ตุลาคม 2554: ฟังวิทยุ แล้วมีโฆษณาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ประกาศว่าตอนนี้มี Same-day appointment แล้วด้วย!!! โอ้ว อย่างนี้เอามาเป็นโปรโมชั่นได้ด้วยเหรอ ที่เมืองไทยมีออกเยอะแยะไป ]

One response to this post.

  1. Posted by Nina on May 3, 2011 at 10:53 pm

    รบกวนถามหน่อยนะคะ ตอนนี้อยู่ที่ LA เป็นภูมิแพ้ที่ผิวหนังเหมือนกัน (หรือภาษาทไยเรียกว่า โรคน้ำเหลืองไม่ดี) ตอนนี้เป็นลุกลามมาก และต้องการไปหาหมอ แต่พอดีไม่มีประกันสุขภาพ พอจะทราบมั้ยคะ ว่าควรทำยังไบ้าง เลือกหมอยังไง ต้องเริ่มจากตรงไหนคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

    Reply

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.